คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3435/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งหกได้พูดจารับรองความประพฤติของจำเลยที่ 1เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เกี่ยวกับการค้าขายและผลิตทองรูปพรรณและอัญมณีให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจำเลยที่ 1จะได้ทำการค้าขายทองรูปพรรณร่วมกับโจทก์ที่ 2 หลังจากสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งหกจงใจกระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง พฤติกรรมของจำเลยทั้งหกเพียงพูดความเท็จให้โจทก์เชื่อถือในความประพฤติของจำเลยที่ 1เท่านั้น การที่โจทก์ที่ 1 ประสิทธิ์ประสาทวิชาช่างทองให้จำเลยที่ 1และโจทก์ที่ 2 สมรสกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเกิดจากความสมัครใจของโจทก์ทั้งสองเอง การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ประกอบการค้าขายและผลิตเครื่องทองรูปพรรณและอัญมณี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530จำเลยที่ 4 มาติดต่อทาบทาม โจทก์ที่ 1 และนางบุญเลี้ยงภริยาเพื่อสู่ขอโจทก์ที่ 2 ให้สมรสกับจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจำเลยที่ 1 จะยกตึกแถวที่เช่าอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เมื่อสมรสกันแล้ว เพื่อทำการค้าขายทองร่วมกันโดยจะให้จำเลยที่ 1 มาฝึกงานช่างทอง ค้าขายทอง ผลิตเครื่องทองรูปพรรณ วิธีดูและตีราคาทองและอัญมณีต่าง ๆ จากโจทก์ที่ 1 ทั้งยังอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เสพสุราไม่เล่นการพนัน ไม่เคยมีบุตรภริยามาก่อน โจทก์ที่ 1 และภริยาจึงตกลงยกโจทก์ที่ 2 ให้สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยทำพิธีหมั้นกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530 จำเลยทั้งหกมาร่วมพิธีด้วยและรับรองคำพูดของจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับความประพฤติของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 มาฝึกงานกับโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 7 เดือน จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จึงจดทะเบียนสมรสกัน และหลังจากนั้นเกิดมีปากเสียงกันจำเลยที่ 1 ใช้กำลังตบตีโจทก์ที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายแล้วแยกกันอยู่ ต่อมาโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทราบความจริงว่าจำเลยที่ 1 มีความประพฤติไม่ดี เป็นนักเลงการพนันเสพสุราเป็นอาจิณออกเที่ยวกลางคืน และมีภริยาอยู่ก่อนแล้ว แต่มิได้จดทะเบียนสมรสมีบุตร 1 คน จำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์ทั้งสองจนหลงเชื่อโจทก์ที่ 1 จึงประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ในการทำการค้าขายและผลิตเครื่องทองรูปพรรณและอัญมณีให้แก่จำเลยที่ 1 และยอมยกโจทก์ที่ 2ให้สมรสกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน100,000 บาท และยกโจทก์ที่ 2 ให้สมรสกับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายในเหตุโจทก์ที่ 1 ยอมสมรสกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรมนางสาวสุรีย์พร กิติปัณฑุ ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 1 ผู้มรณะศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีปรากฏว่าโจทก์มิได้นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยที่ 4 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น โจทก์ทราบคำสั่งแล้วจึงถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246,247 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยทั้งหกได้พูดจารับรองความประพฤติของจำเลยที่ 1 เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้เกี่ยวกับการค้าขายและผลิตทองรูปพรรณและอัญมณีให้แก่จำเลยที่ 1เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้ทำการค้าขายทองรูปพรรณร่วมกับโจทก์ที่ 2หลังจากสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งหกจงใจกระทำผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่ชีวิต แก่ร่างกายอนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง พฤติกรรมของจำเลยทั้งหกเพียงพูดความเท็จให้โจทก์เชื่อถือในความประพฤติของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การที่โจทก์ที่ 1 ประสิทธิ์ประสาทวิชาช่างทองให้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 สมรสกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเกิดจากความสมัครใจของโจทก์ทั้งสองเองด้วย การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share