แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันนั้น กฎหมายไม่บังคับว่าต้องขึ้นทะเบียน เพราะจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามสภาพของที่ดินนั้นเองว่าเป็นทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ที่พิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งไม่อาจออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาทและตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117,122 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ (ปัจจุบันคืนนายอำเภอ) ที่จะต้องรักษาดูแลที่ดินลำน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์ไม่ให้ผู้ใดทำให้เสียหายหรือกีดกันเอาเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว จำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ปักป้ายที่สาธารณะตลอดจนปักหลักแนวเขตที่พิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 79, 80 และ 81ตำบลท่าหมื่นราม (พันชาลี) หมู่ที่ 4(2) อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่รวม 112 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา เมื่อวันที่19 มกราคม 2532 จำเลยที่ 3 ได้สั่งให้จำเลยที่ 2 นำป้ายมีข้อความว่า “ที่สาธารณะ (หนองลาด)” จำนวน 2 ป้ายไปปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเนื้อที่ดินทั้งหมด และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 3 และที่ 4ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีกหลายคนนำหลักไม้จำนวนประมาณ10-15 หลักไปปักเป็นแนวเขตแสดงที่สาธารณะรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์อีกประมาณ 3 ใน 4 ของเนื้อที่ดินทั้งหมด การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันถอนป้ายและหลักไม้แนวเขตที่สาธารณะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินตาม น.ส.3 ของโจทก์ทั้งสามแปลงเป็นที่ดินหนองน้ำสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว จำเลยที่ 1 กับพวกได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3และที่ 4 ให้นำหลักไม้ไปปักแสดงเขตที่สาธารณะไม่ได้เข้าไปในที่ดินของโจทก์ การปักป้ายนั้นมีการสอบสวนและพิสูจน์ว่าเป็นหนองน้ำสาธารณะจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ออก น.ส.3 โดยไม่ชอบขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรวมกันมาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหนองลาดโดยถูกต้องตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำการปักหลักแนวเขตแสดงที่สาธารณะรอบบริเวณหนองลาดจริงและเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นการละเมิดบุกรุกที่ดินของโจทก์ เนื่องจากหนองลาดเป็นหนองน้ำสาธารณะอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตลอด การที่โจทก์นำที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปออกน.ส.3 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันถอนป้ายและหลักไม้แนวเขตที่สาธารณะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณะชื่อหนองลาดที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วและการเป็นหนองน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้นกฎหมายไม่บังคับว่าต้องขึ้นทะเบียน เพราะจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามสภาพของที่นั้นเองว่าเป็นทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทเป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งประชาชนใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ จับปลาและใช้น้ำร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ขณะที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทก็ไม่ปรากฏว่ามีการถอนสภาพหนองน้ำสาธารณะดังกล่าว แม้โจทก์จะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ก็ตามแต่ที่พิพาทก็เป็นหนองน้ำสาธารณะซึ่งไม่อาจออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินได้ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทและตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 117, 122 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอที่จะต้องรักษาดูแลที่ดินลำน้ำอันเป็นสาธารณประโยชน์ ไม่ให้ผู้ใดทำให้เสียหายหรือกีดกันเอาเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว จำเลยที่ 3 ในฐานะนายอำเภอจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ปักป้ายที่สาธารณะตลอดจนปักหลักแนวเขตที่พิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ถอนป้ายและหลักไม้แสดงแนวเขตที่สาธารณะออกไปจากที่พิพาทได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์