คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คู่สัญญาได้ระบุเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท ไว้ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินมัดจำจำนวนดังกล่าวแล้วเงินค่าตอบแทนเพื่อขยายเวลาโอนดังกล่าวจึงมิใช่เงินมัดจำและถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์เจตนาชำระเป็นราคาทรัพย์ที่จะซื้อบางส่วน เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) และคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 600,000บาท ดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าตอบแทนเพื่อขยายเวลาโอน ซึ่งมิใช่มัดจำจำนวน 600,000 บาท ที่รับไว้จากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่11128 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ)จังหวัดชลบุรี ระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 6 เสีย ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 5 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้ง 7 แปลงพร้อมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ในกิจการโรงงานน้ำแข็งชื่อโรงงานน้ำแข็งไทยนำแสง แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามด้วยให้จำเลยที่ 1 ยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อขอโอนหรือเปลี่ยนชื่อผู้รับอนุญาตตามใบอนุญาตต่าง ๆเกี่ยวกับกิจการทำโรงน้ำแข็ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดคืนเงินมัดจำและค่าซื้อขายจำนวน 1,000,000 บาท และร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอีก 2,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ก่อนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องกับนายจรูญ ปิยะสิรานนท์จริง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและขอขยายเวลาตลอดมา จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2527 แต่อย่างใด หากแต่ตกลงกันว่าจะขยายเวลาออกไปเป็นภายในสิ้นเดือนเมษายน 2527เท่านั้น สำหรับเงินจำนวน 600,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1ก็เป็นเงินที่โจทก์จ่ายแทนเช็ค จำนวน 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 600,000บาท ที่โจทก์ได้จ่ายให้จำเลยที่ 1 เพื่อขยายวันรับโอนกรรมสิทธิ์ออกไปถึงวันที่ 15 มีนาคม 2527 โจทก์จะให้นายเอี้ยวกวง แซ่เจี๊ยะเป็นผู้ซื้อแทนโจทก์ นายเอี้ยวกวงได้ชำระเงินให้โจทก์แล้วบางส่วนพร้อมกับแจ้งว่า บรรดาเงินที่โจทก์ชำระมาก่อนนั้น โจทก์กับนายเอี้ยวกวงจะไปทำการหักทอนกันเอง และตกลงให้โอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาภายในวันสิ้นเดือนเมษายน 2527 แต่โจทก์และนายเอี้ยวกวงมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 จึงให้นายศักดิ์ ผลสุขทนายความทำหนังสือบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว หลังจากโจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับนายเอี้ยวกวงได้ขอขยายเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาออกไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ต่อมาทนายโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีในวันที่ 28 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ค้านว่าเพื่อให้เรื่องยุติด้วยดีประกอบด้วยนายเอี้ยวกวงไม่คัดค้านจำเลยที่ 1 ก็ได้ไปตามนัด แต่โจทก์ไม่ไปตามนัด จำเลยที่ 1 จึงได้ทำบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินไว้ จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือขอเลื่อนกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ไปภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2527 แต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวของทนายความเป็นการนอกเหนือขอบอำนาจโดยพลการ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 แก่จำเลยที่ 6เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2527 โดยสุจริต โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาและคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 จากจำเลยที่ 2 ภายหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายต่อโจทก์แล้วและตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 11128 รวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 6 ได้รับโอนโดยมีค่าตอบแทนและกระทำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5ร่วมกันชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีสิทธิริบเงิน 600,000 บาท ที่โจทก์ชำระหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์รับว่าแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 600,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ได้มอบให้จำเลยที่ 1 หลังจากเช็คจำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 200,000 บาทตามเอกสารล.19 ถึง ล.21 ได้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ว่า เงินจำนวน 600,000 บาทตามแคชเชียร์เช็คที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 แทนเช็ครวม 3 ฉบับจำนวนเงิน 600,000 บาท ที่โจทก์ได้มอบให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 25มกราคม 2527 เพื่อขอขยายระยะเวลาของสัญญาลงวันที่ 30 ตุลาคม 2526ออกไปถึงวันที่ 15 มีนาคม 2527 ตามข้อความที่บันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเงินจำนวน 600,000 บาท เป็นค่าตอบแทนเพื่อขยายเวลาโอนจากวันที่ 30 มกราคม 2527 เป็นวันที่ 15 มีนาคม 2527 ซึ่งมิใช่เงินมัดจำเนื่องจากคู่สัญญาได้ระบุเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท ไว้ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารหมาย จ.8 และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินมัดจำจำนวนดังกล่าวแล้ว เงินค่าตอบแทนเพื่อขยายเวลาโอนดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์เจตนาชำระเป็นราคาทรัพย์ที่จะซื้อบางส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 400,000 บาท ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) และคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 600,000 บาท ดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 5 ไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์แต่อย่างใดจึงไม่มีสิทธิริบเงินค่าตอบแทนเพื่อขยายเวลาโอนซึ่งมิใช่มัดจำจำนวน 600,000 บาท ที่รับไว้จากโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 600,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share