คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การยกให้ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก)โดยผู้ให้ประสงค์จะยกให้โดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่เจตนาสละการครอบครอง การให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 และประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา 4 ทวิ เมื่อ ป. เจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก ยกที่ดินพิพาทให้แก่จ. แต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่ จ. เข้าครอบครองที่ดินจึงเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ มิใช่ยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของ จึงไม่มีสิทธิครอบครอง ต่อมา ป. ยกเลิกการให้ที่ดินพิพาทแก่ จ. และได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ ล. แทน เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมล. ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของ ป.แล้วจ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องที่ดินพิพาทจาก ล.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า พระครูประสิทธิ์วิทยาคม ยกที่ดินนา 1 แปลงเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้เข้ายึดถือครอบครองเพื่อตนโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา พระครูประสิทธิ์วิทยาคมได้ยื่นคำร้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่พระครูประสิทธิ์วิทยาคมถึงแก่มรณภาพเสียก่อน การทำนิติกรรมแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงยังไม่สมบูรณ์ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตาม น.ส.3 ก เลขที่ 3032 ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระครูประสิทธิ์วิทยาคมทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 ก เลขที่3032 เป็นของจำเลยแล้ว จำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก เลขที่ 3032 โดยได้รับมรดกตามพินัยกรรมของพระครูประสิทธิ์วิทยาคม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 7 ไร่เศษ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 3032 ตำบลหนองแคอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เดิมมีชื่อพระครูประสิทธิ์วิทยาคมเป็นเจ้าของ ต่อมาหลังจากพระครูประสิทธิ์วิทยาคมมรณภาพแล้วได้มีการจดทะเบียนโอนรับมรดกตามพินัยกรรมมาเป็นของจำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า พระครูประสิทธิ์วิทยาคมทำหนังสือยกที่ดินตาม น.ส.3 ก ดังกล่าวให้โจทก์และนางบุญมี เสน่หา มารดาจำเลยคนละครึ่ง โดยมอบอำนาจให้โจทก์ยื่นคำร้องขอออก น.ส.3 รังวัดแบ่งแยกให้แก่โจทก์เองและจดทะเบียนโอนส่วนที่เหลือให้แก่นางบุญมีปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ต่อมาได้มีการรังวัดแล้วแต่ยังไม่ทันแบ่งแยก น.ส.3 ก ฉบับใหม่ พระครูประสิทธิ์วิทยาคมมรณภาพเสียก่อน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบกับข้อความในพินัยกรรมของพระครูประสิทธิ์วิทยาคม เอกสารหมาย จ.6 หรือ ล.2ที่ยกเลิกการยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แสดงว่าพระครูประสิทธิ์วิทยาคมประสงค์จะยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยการทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หาใช่เป็นกรณีเจตนาสละการครอบครองไม่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ กล่าวคือการให้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นเมื่อการให้รายนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายการที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองแทนพระครูประสิทธิ์วิทยาคม มิใช่ยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของ โจทก์จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อพระครูประสิทธิ์วิทยาคมยกเลิกการให้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์และทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแทน จำเลยรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของพระครูประสิทธิ์วิทยาคม โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องที่ดินพิพาทจากจำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share