แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินส่วนที่นำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนเป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน อันบริษัทโจทก์ได้จ่ายให้พนักงานแล้วเพียงแต่ให้สิทธิโจทก์หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่พนักงานเมื่อออกจากงานเท่านั้นเงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้พนักงานแต่ละคน รวมทั้งเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือนของโจทก์อันนำมาหักเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ได้โดยโจทก์ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนทั้งหมดของพนักงานไว้ตามมาตรา 50 แล้วนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอตามมาตรา 52 จึงเป็นเงินที่จ่ายขาดจากโจทก์แล้ว เงินส่วนที่หักจากเงินเดือนนำฝากเข้าบัญชีสมทบทุนนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงานนับแต่นั้น ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินฝากนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงาน หาใช่เงินได้ของโจทก์ไม่ โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดที่โจทก์นำสืบเป็นเพียงวิธีการในการคำนวณราคาสินค้าอย่างกว้าง ๆ โดยไม่มีรายละเอียดว่าเป็นสินค้าอะไรบ้างที่โจทก์ได้คำนวณตามราคาตลาดอันเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาทุน ทั้งโจทก์ได้วางแนวทางให้ปฏิบัติในการบันทึกรายการสินค้าคงเหลือโดยอาศัยระยะเวลาที่ได้รับสินค้ามาครอบครองไว้เป็นเกณฑ์ซึ่งปรากฏว่าตามหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคา และการตัดบัญชีดังกล่าวมีแนวปฏิบัติ เช่น สินค้าที่เสียง่ายหากคงเหลือถึง 18 เดือนจะตัดค่าเสื่อมราคาลงร้อยละ 50หากคงเหลือถึง 2 ปี จะตัดออกจากบัญชีหมดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการตัดค่าเสื่อมราคาสินค้าคงเหลือ มิใช่เป็นการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดที่แท้จริงตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6) เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำมามอบให้แล้วแจ้งประเมินภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นการประเมินที่ชอบหากโจทก์มีข้อโต้แย้งในรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารอย่างไรชอบที่โจทก์จะชี้แจงให้เจ้าพนักงานประเมินทราบหรืออุทธรณ์การประเมินไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือนำสืบในชั้นศาลได้ เหตุดังกล่าวหาทำให้การประเมินเป็นไปโดยมิชอบไม่ โจทก์คำนวณราคาสินค้าคงเหลือโดยการกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองตามหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชี อันมิใช่ราคาตลาดเพื่อให้ต่ำกว่าราคาทุน เป็นเหตุให้มีรายรับน้อยลงและทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลงไปด้วย มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในตัวส่วนรายจ่ายในแผนกท่องเที่ยว โจทก์ทำใบสำคัญการจ่ายขึ้นเองแล้วเอาอากรแสตมป์มาปิด โดยไม่มีรายละเอียดถึงเหตุที่ต้องจ่ายเงินว่าเป็นการจ่ายเพื่อกิจการอย่างไร ชื่อที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่ชัดแจ้ง มีพฤติการณ์ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีไม่มีเหตุสมควรงดหรืองดเงินเพิ่ม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน กับขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องแล้วไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ 582 ก/2528 เลขที่ 582ข/2528582 ค/2528 และ 582 ง/2528 เฉพาะในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยรับจากเงินกองทุนสะสมเลี้ยงชีพส่วนของพนักงานในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2512ถึง 2515 โดยมิให้นำมาคิดเป็นรายรับเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ ตลอดจนเงินเพิ่มที่เกี่ยวกับเงินส่วนนี้ด้วย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า เงินได้สำหรับดอกเบี้ยจากบัญชีสมทบทุนนี้เป็นเงินได้ของโจทก์อันจะต้องเสียภาษีหรือไม่ เห็นว่าเงินส่วนที่นำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนอันบริษัทโจทก์ได้จ่ายให้พนักงานแล้ว เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์หักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามระเบียบที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่พนักงานเมื่อออกจากงานเท่านั้น ตามระเบียบของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 เมื่อพนักงานของโจทก์ออกจากงานก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจากบัญชีสมทบทุนทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ โจทก์เพียงแต่มีสิทธิยึดหน่วงไว้เพื่อชำระหนี้ที่พนักงานยังคงค้างชำระแก่ตนเท่านั้นแม้ในระหว่างที่ยังทำงานอยู่พนักงานไม่มีสิทธิถอนเงินดังกล่าวและอำนาจจัดการเงินกองทุนจะตกเป็นเด็ดขาดของผู้ควบคุม 3 นายโดยตำแหน่ง คือ กรรมการผู้จัดการ สมุห์บัญชี และผู้จัดการงานบุคคลของโจทก์แต่ต้องเป็นการจัดการตามระเบียบที่กำหนดไว้ อันเป็นประโยชน์ในการสะสมทรัพย์ให้พนักงาน ผู้ควบคุมโดยตำแหน่งทั้ง 3 นายดังกล่าวแม้เป็นผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ แต่ก็เป็นพนักงานของโจทก์และเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย การเป็นผู้ควบคุมของบุคคลทั้งสามมิใช่ทำในนามโจทก์ แต่เป็นการทำแทนสมาชิกทุกคนรวมทั้งบริษัทโจทก์ด้วย เงินเดือนที่โจทก์จ่ายให้พนักงานแต่ละคนรวมทั้งเงินที่ถูกหักเข้ากองทุนในบัญชีสมทบทุนนี้เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือนของโจทก์อันนำมาหักเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ได้ โดยโจทก์ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนทั้งหมดของพนักงานไว้ตามมาตรา 50 แล้วนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ ตามมาตรา 52 จึงเป็นเงินที่จ่ายขาดจากโจทก์แล้ว เงินส่วนที่หักจากเงินเดือนนำเข้าฝากในบัญชีสมทบทุนนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงานนับแต่นั้น ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินฝากนี้จึงเป็นเงินได้ของพนักงาน หาใช่เงินได้ของโจทก์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ในเรื่องการหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์เกี่ยวกับราคาสินค้าคงเหลือ รายจ่ายในแผนกท่องเที่ยวและรายจ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้ รวม3 รายการนั้น
รายการแรกเกี่ยวกับราคาสินค้าคงเหลือ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่าการหักรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือนี้โจทก์มิได้หักเป็นค่าเสื่อมราคาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(2)แต่โจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาด ตามมาตรา 65 ทวิ(6)ปัญหาจึงมีว่า ราคาสินค้าคงเหลือโจทก์ได้คำนวณตามราคาตลาด ซึ่งน้อยกว่าราคาทุนหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบโดยมีนายชัยรัตน์กุลกลการ ผู้บริหารฝ่ายตลาดของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าการกำหนดราคาสินค้าคงเหลือในแต่ละปีอยู่ในความรับผิดชอบของนายชัยรัตน์โดยประเมินราคาสินค้าให้เหมาะสมกับราคาตลาด คำนึงถึงประเภทของสินค้า อายุการใช้งาน เป็นสินค้าที่ลูกค้าส่งคืนเพราะชำรุดหรือไม่ ล้าสมัยหรือไม่ แล้วนำหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.27 มาประกอบในการกำหนดราคาศาลฎีกาเห็นว่า การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดตามที่โจทก์นำสืบนี้เป็นเพียงวิธีการในการคำนวณราคาสินค้าอย่างกว้าง ๆ โดยไม่มีรายละเอียดว่าเป็นสินค้าอะไรบ้าง ที่โจทก์ได้คำนวณตามราคาตลาดอันเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนโดยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2513 ต่ำกว่าถึง 494,391.36 บาท ในปี 2514ต่ำกว่า 1,894,753.02 บาท และในปี 2515 ต่ำกว่า 245,362.33 บาททั้งนางสาวนงนารถ นิธิประภา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เคยให้การต่อเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.49 ว่า เนื่องจากสินค้าคงเหลือมีการเสื่อมสภาพโจทก์จึงได้วางแนวทางให้ปฏิบัติในการบันทึกรายการสินค้าคงเหลือโดยอาศัยระยะเวลาที่ได้รับสินค้ามาครอบครองไว้เป็นเกณฑ์ปรากฏว่าตามหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชีเอกสารหมาย จ.27 ดังกล่าวมีแนวปฏิบัติตามข้อ 7 เช่น สินค้าที่เสียง่ายหากคงเหลือถึง 18 เดือน จะตัดค่าเสื่อมราคาลงร้อยละ 50 หากคงเหลือถึง 2 ปี จะตัดออกจากบัญชีหมด จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการตัดค่าเสื่อมราคาสินค้าคงเหลือ มิใช่เป็นการคำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดที่แท้จริง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6)ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งขอตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีในครั้งนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2516 โจทก์ได้เตรียมเอกสารเพื่อให้ตรวจสอบแล้ว แต่จำเลยก็เงียบหายไป จนเมื่อเดือนตุลาคม 2522 ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ตรวจสอบได้เพียง 3 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมาตรวจสอบแต่เอกสารที่จะทำการตรวจสอบมีจำนวนมาก การตรวจสอบจึงไม่ละเอียดรอบคอบแล้วได้แจ้งประเมินแก่โจทก์เมื่อวันสุดท้ายตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 เป็นการประเมินที่มิได้อาศัยพยานหลักฐานที่มีอยู่ จึงเป็นการประเมินที่มิชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนพยานหลักฐานตามที่โจทก์นำมามอบให้แล้วแจ้งประเมินภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ใช้บังคับแล้ว จึงเป็นการประเมินที่ชอบหากโจทก์มีข้อโต้แย้งในรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารอย่างไรชอบที่โจทก์จะชี้แจงให้เจ้าพนักงานประเมินทราบหรืออุทธรณ์การประเมินไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือนำสืบในชั้นศาลได้ เหตุดังกล่าวหาทำให้การประเมินเป็นไปโดยมิชอบไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาสุดท้าย คดีมีเหตุงดหรือลดเงินเพิ่มในภาษีที่ต้องชำระเพิ่มตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือโจทก์คำนวณโดยการกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองตามหลักเกณฑ์การตัดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.27 อันมิใช่ราคาตลาดเพื่อให้ต่ำกว่าราคาทุน ทำให้มีรายรับน้อยลงทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลงไปด้วย มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในตัวส่วนรายจ่ายต้องห้ามในแผนกท่องเที่ยว โจทก์ทำใบสำคัญการจ่ายขึ้นเองแล้วเอาอากรแสตมป์มาปิด โดยไม่มีรายละเอียดถึงเหตุที่ต้องจ่ายเงินว่าเป็นการจ่ายเพื่อกิจการอย่างไร ชื่อที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่ชัดแจ้ง มีพฤติการณ์ว่า โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีคดีไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเงินเพิ่มฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนของรายจ่ายในแผนกท่องเที่ยวในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2514 ให้หักเป็นรายจ่ายได้จำนวน 1,171,534.50 บาท คงเป็นรายจ่ายต้องห้ามอันจะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 557,106.50 บาทในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ให้หักเป็นรายจ่ายได้จำนวน 1,336,562.70บาท คงเป็นรายจ่ายต้องห้ามอันจะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้จำนวน1,256,529.49 บาท และในส่วนของรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2514 และปี 2515 ให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งหมด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์