คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์จำเลยมีความประสงค์จะผูกพันกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินแม้จำเลยทราบดีตั้งแต่แรกว่าโจทก์มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมาย แต่จำเลยก็ยังยินยอมดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์ จำเลยจึงจะยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดในภายหลังไม่ได้ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกให้โจทก์ถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม แต่มีเงื่อนเวลาว่าหากจำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท ง. จนครบถ้วน โจทก์จะไม่ถอนเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินหรือจะไม่โอนตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้บุคคลใด เงื่อนเวลาดังกล่าวเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่จำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192ฉะนั้นเมื่อก่อนฟ้องคดีโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ว่า จำเลยขอชำระหนี้โจทก์ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท ส. แสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาอีกต่อไปแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์เมื่อโจทก์ทวงถาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฝากเงินจำนวน 5 ล้านบาท ไว้กับจำเลยจำเลยได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักฐาน โดยสัญญาจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนโจทก์เมื่อทวงถามพร้อมด้วยดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายจำเลยได้จ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์จนถึงเดือนเมษายน 2527หลังจากนั้นจำเลยไม่จ่ายดอกเบี้ยอีก โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,179,452.05 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ฝากเงินจำนวน 5 ล้านบาทไว้กับจำเลย แต่โจทก์ประสงค์จะให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์กู้เงินจำนวน5 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510โดยผ่านจำเลย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี จำเลยนำเงินดอกเบี้ยมามอบให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1.5 ต่อปี โจทก์ให้เป็นบำเหน็จแก่จำเลย ส่วนต้นเงินโจทก์จะไม่เรียกคืนจากจำเลยจนกว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนจำกัด จะได้ชำระต้นเงินจำนวนนี้แก่จำเลย โจทก์ได้ให้จำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินอำพรางการมอบเงินกู้ดังกล่าว ฉะนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นโมฆะ ไม่มีลูกหนี้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ยังไม่ได้ชำระเงินต้นจำนวน 5 ล้านบาทแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน 5 ล้านบาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,179,452.05 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว…ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยรับเงินจากโจทก์และออกตั๋วสัญญาใช้เงินแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นการอำพรางการที่โจทก์ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ซึ่งมีกรรมการของบริษัทเป็นบุคคลคนเดียวกับกรรมการของโจทก์กู้เงิน โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายจึงเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเอกสารหมาย ล.1 ว่า ในวันเดียวกับที่โจทก์ฝากเงินไว้กับจำเลย 5 ล้านบาท และจำเลยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ไว้ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ได้กู้ยืมเงินไปจากจำเลย 5 ล้านบาท และออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 เช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่า การแสดงเจตนาระหว่างคู่กรณีนั้นถ้าประสงค์จะผูกพันตามที่แสดงออกมาภายนอกก็เป็นนิติกรรมก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 112 (มาตรา 149 ที่แก้ไขใหม่) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าไม่ประสงค์จะผูกพันตามนั้นก็ไม่เป็นนิติกรรม การแสดงออกซึ่งเจตนาระหว่างโจทก์ จำเลยตามข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.1 แสดงว่าโจทก์จำเลยมีความประสงค์จะผูกพันกันตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 แม้จะได้ความว่าในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนจำกัด กู้เงินไป 5 ล้านบาท โดยผู้กู้ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยไว้ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยผู้ให้กู้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ผู้กู้เท่านั้น และเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์อันเป็นปกติทางการค้าของจำเลยไม่เกี่ยวกับโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีเจตนาจะให้บริษัทที่มีกรรมการเป็นบุคคลคนเดียวกับบริษัทโจทก์กู้เงินเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอันแสดงว่าจำเลยได้ทราบดีมาตั้งแต่แรกแล้วว่าโจทก์มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายแต่จำเลยก็ยังยินยอมดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของโจทก์โดยรับเงินฝากของโจทก์ไว้และออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์จำเลยจะยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดในภายหลังไม่ได้ จำเลยจึงมีความผูกพันที่จะต้องใช้เงินให้โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เอกสารหมาย จ.1 ฎีกา จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ตามประเด็นข้อ 2 จำเลยฎีกาว่า ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.1ตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ยังไม่ถึงกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงิน พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยออกให้โจทก์ถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถามซึ่งมีความหมายว่าทวงถามเมื่อใดก็ต้องใช้เงินทันที แต่โจทก์จำเลยได้ทำความตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.1 โดยมีข้อความเกี่ยวข้องไปถึงหนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัดที่มีต่อจำเลยจำนวน 5 ล้านบาทด้วย โดยระบุว่าหากจำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน โจทก์ก็จะไม่ถอนเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกให้โจทก์หรือจะไม่โอนตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่บุคคลใดอันเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้เป็นประโยชน์แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154(มาตรา 192 ที่แก้ไขใหม่) ดังนั้นเมื่อพิจารณาวันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ประกอบข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นแล้วจึงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระเงินหรือถอนเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ได้ชำระหนี้ให้จำเลยจำนวน 5 ล้านบาทครบถ้วนแล้ว ทางพิจารณาได้ความว่าต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัด ถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตและถูกฟ้องล้มละลาย ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ดังนั้นในทางแพ่งบริษัทดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนอีกต่อไปซึ่งรวมทั้งไม่มีอำนาจชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่จำเลย ได้ความจากนายวสันต์ เทียนหอม พยานจำเลยว่าจำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน จำกัดไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวครบถ้วนแล้วหรือไม่อย่างไรก็ดีพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1พร้อมดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.19 จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุนจำกัด ถูกถอนใบอนุญาตไม่สามารถใช้เงินแก่จำเลยได้ เพื่อให้การชำระหนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดี จำเลยขอชำระหนี้โจทก์ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัด และหากโจทก์ประสงค์จะใช้เงิน จำเลยก็ยินดีรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไว้ แสดงว่าจำเลยยินยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สหธนกิจไทย จำกัดโดยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามวันถึงกำหนดใช้เงินในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 คือ เมื่อโจทก์ทวงถาม คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share