คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่ออ่านข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณาโดยตลอดแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีฐานะทางการเงินไม่น่าไว้วางใจปราศจากความน่าเชื่อถือ โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการเป็นประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป มิใช่เป็นการเขียนข่าวหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจด้วยความเป็นธรรม จึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 แล้วไม่จำต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328, 332, 83, 50 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ลงโทษจำคุก 3 เดือน และปรับ2,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ในกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับก็ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันหนึ่งฉบับ จำนวน 3 ครั้งโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ส่วนฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กับคำขออื่น นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้คงมีว่า ข้อความที่พิมพ์โฆษณาเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่ลงตีพิมพ์โฆษณาดังกล่าวมีหัวข้อข่าวว่า “โรงแรมพ่นพิษใส่บี โอ ไอ ถ่วงวางเงินค้ำประกัน” และมีเนื้อข่าวว่า “กลุ่มแอมเทลของนายชวลิต ทั่งสัมพันธ์ ใช้วิธีหน่วงจ่าย..โรงแรมที่อนุมัติรุ่นเดียวกับโรงแรมเอราวัณมีอีก 3 แห่ง แต่เป็นเจ้าของเดียวกันคือ นายชวลิต ทั่งสัมพันธ์ เจ้าของโรงแรมเครือแอมบาสซาเดอร์ซึ่งครบกำหนดวางเงินค้ำประกันเช่นกันแต่ไม่มีการวางเงินเพราะก่อนหน้านี้ บี โอ ไอ แจ้งมติส่งเสริมการลงทุนพร้อมทั้งเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ไปให้กำหนดให้ตอบรับหรือไม่รับมติใน 1 เดือนแต่ช่วงนั้นนายชวลิตทำเรื่องมายัง บี โอ ไอ ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้ตามช่องของกฎระเบียบ บี โอ ไอ ที่เปิดไว้กรณีผู้รับส่งเสริมไม่พอใจสิทธิประโยชน์สามารถเสนอขอแก้ไขส่วนจะได้หรือไม่อยู่ที่ บี โอ ไอ ตัดสิน..ดังนั้น บี โอ ไอจึงเตรียมออกหนังสือแจ้งให้นายชวลิตทราบมติ ถ้ารับได้ต้องวางเงินประกันใน 60 วัน คราวนี้ไม่มาอีกจะตัดสิทธิทันที…” ข้อความดังกล่าวเมื่ออ่านโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีฐานะทางการเงินไม่น่าไว้วางใจปราศจากความน่าเชื่อถือโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ที่ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ในขณะที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรายอื่นได้ปฏิบัติแล้ว เป็นประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากประชาชนโดยทั่วไปทั้งมิใช่เป็นการเขียนข่าวหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจด้วยความเป็นธรรมแต่ประการใด การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326ด้วยนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 328 แล้ว ก็ไม่จำต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share