แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266, 268 และ 341 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง แต่ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 2 ปี 8 เดือนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 กระทงเดียว ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือนเช่นนี้ความผิดฐานฉ้อโกงมีการแก้ไขเฉพาะโทษและเป็นการแก้ไขเล็กน้อยจำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264,265, 266, และ 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266, 268 และ 341 แต่ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุก 4 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน กับให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 กระทงเดียว ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน กับให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยกเสีย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า ตามรูปคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับนายเส่งวางแผนกระทำการฉ้อโกงดังโจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์แล้วเห็นว่า ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าข้อหาฐานฉ้อโกงนั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าจำเลยได้กระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง เป็นแต่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือนเท่านั้น ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยยังไม่ผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันกับศาลชั้นต้นจึงพิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 กระทงเดียว ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน เช่นนี้ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงมีการแก้ไขเฉพาะโทษและเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์จำเลย