คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องเห็นได้ว่ามีสองส่วน คือส่วนการกู้เงินกับส่วนการเรียกดอกเบี้ย ส่วนการกู้เงินไม่ผิดกฎหมายแต่ส่วนการเรียกดอกเบี้ยโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดส่วนนี้จึงตกเป็นโมฆะ สองส่วนนี้แยกต่างหากจากกันได้โดยถือว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้ต้นเงินสูญไปด้วย ดังนั้น ต้นเงินจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นส่วนที่สมบูรณ์แยกต่างหากจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ สัญญากู้ไม่เป็นโมฆะทั้งฉบับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยได้เสมอไม่ว่าจะมีข้อตกลงให้ดอกเบี้ยกันหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมายเมื่อสัญญากู้ถึงกำหนดชำระคืนในวันที่ 8 มีนาคม 2529 จำเลยไม่ชำระย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด จึงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป ดอกเบี้ยภายหลังจากที่จำเลยผิดนัดไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 2,300,000 บาทสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยเดือนละ 48,300 บาท และจะชำระเงินกู้คืนภายในวันที่ 8 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดเวลาการชำระเงินกู้คืน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ได้นำเงินกู้มาชำระแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,162,972.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 2,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือสัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นโมฆะ เพราะคิดดอกเบี้ยเกินอัตราขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทบัญญัติว่า “ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะท่านว่านิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีได้เจตนาจะให้ส่วนที่สมบูรณ์นั้นแยกออกหากจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้”เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงินท้ายฟ้องเห็นได้ชัดเจนว่ามีสองส่วนส่วนหนึ่งคือการกู้เงิน อีกส่วนหนึ่งคือการเรียกดอกเบี้ย ส่วนการกู้เงินไม่ผิดกฎหมาย แต่ส่วนการเรียกดอกเบี้ยโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนนี้จึงตกเป็นโมฆะ ส่วนการกู้เงินกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแยกออกต่างหากจากกันได้โดยถือว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้ต้นเงินสูญไปด้วย ดังนั้นต้นเงิน 2,300,000 บาท จึงไม่ตกเป็นโมฆะเพราะเป็นส่วนที่สมบูรณ์แยกต่างหากจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่สมบูรณ์สัญญากู้จึงไม่เป็นโมฆะทั้งฉบับ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อข้อตกลงส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งหมด จึงไม่มีข้อความเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยกำหนดไว้ในสัญญากู้แต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะผิดนัดชำระเงินต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 บัญญัติว่า หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อใดกฎหมายก็ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยได้ตามอัตราดังกล่าวเสมอไม่ว่าจะมีข้อตกลงให้ดอกเบี้ยกันหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย เมื่อสัญญากู้ถึงกำหนดชำระคืนในวันที่ 8 มีนาคม 2529 จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด จึงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป ดอกเบี้ยภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองผิดนัดหาตกเป็นโมฆะดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่
พิพากษายืน

Share