แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคฯลฯ 2488 กับพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว 2489 ไม่ใช่กฎหมาย ที่ใช้แทนกันหรือขัดกันเพราะพระราชบัญญัติฉบับแรกมีความมุ่งหมายเพื่อให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของต่างๆ เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศ ส่วนความมุ่งหมายในพระราชบัญญัติฉบับหลังมีเพียงแต่สำรวจและห้ามกักกันข้าว เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดละเมิดพระราชบัญญัติ ฉบับใด ก็ต้องใช้พระราชบัญญัตินั้นบังคับ
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยกระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคโดยมิได้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวสารต่อคณะกรรมการตามประกาศศาลต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ละเมิดต่อ พระราชบัญญัติที่กล่าวหรือไม่
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยเป็นเจ้าของครอบครองข้าวสารมีจำนวนมากกว่า 3 กระสอบ หรือมีน้ำหนักกว่า 324 กก. โดยไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บต่อกรมการอำเภอท้องที่ เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรมการจังหวัดสงขลาซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค 2488 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภค ฯลฯ 2488
จำเลยรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ 2488
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว 2489 เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลัง พระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ 2488 บัญญัติให้บุคคลมีข้าวอย่างอื่นนอกจากข้าวเปลือกไว้ในครอบครองโดยไม่ต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บได้ไม่เกินพัน กก. จำเลยจึงยังไม่มีความผิด พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ 2488 กับพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว 2489 มิใช่กฎหมายที่ใช้แทนกันหรือขัดกัน เพราะพระราชบัญญัติฉบับแรกมีความมุ่งหมายเพื่อให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของต่าง ๆ เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศ ส่วนความมุ่งหมายในพระราชบัญญัติฉบับหลังมีเพียงแต่สำรวจและห้ามกักกันข้าว เพราะฉะนั้นผู้ใดละเมิดพระราชบัญญัติฉบับใด ก็ใช้พระราชบัญญัตินั้นบังคับ เรื่องนี้โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทำผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯโดยมิได้แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวสาร ต่อคณะกรมการตามประกาศต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ละเมิดต่อพระราชบัญญัติที่กล่าวหรือไม่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยละเมิด ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยความข้อนี้ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทำผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภคฯลฯ ตามฟ้องหรือไม่ แล้วพิพากษาตามกระบวนความ