คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง หาจำต้องบรรยายด้วยว่าผู้หนึ่งผู้ใดนั้นเป็นใครหรือชื่ออะไรคำฟ้องของโจทก์ก็สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว จำเลยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในช่องพนักงานเก็บเงินของกรุงเทพมหานคร และลงลายมือชื่อปลอมพร้อมประทับตราของบุคคลอื่นลงในใบเสร็จรับเงิน เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยปราศจากอำนาจจึงเป็นการปลอมเอกสาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยได้ร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ โดยปลอมใบเสร็จรับเงินของกรุงเทพมหานคร”หนึ่งร้อยยี่สิบบาท” ลงลายมือชื่อจำเลยด้วยข้อความว่า “บัญญัติ” ในช่องพนักงานเก็บเงิน ลงลายมือชื่อปลอมของนายฉอ้อน อ้นอุ่น และประทับตรานายฉอ้อน อ้นอุ่น หัวหน้างานรักษาความสะอาดเขตบางกอกน้อย ในช่องหัวหน้าเขต จำเลยกับพวกได้กระทำการปลอมเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายฉอ้อนและประชาชน แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้เอกสารดังกล่าวไปเก็บเงินค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะมูลฝอยจากนางสาวพัชรี รัตนพันธ์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวพัชรีและประชาชน เหตุเกิดที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 266(1) วางโทษจำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าคำฟ้องโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยเป็นผู้ทำเอกสารหมาย จ.1 และเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ หากจำเลยมีความผิดสมควรกำหนดโทษขั้นต่ำและรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ปัญหาประการแรกนั้น เห็นว่าคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยทำเอกสารปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ไม่จำต้องบรรยายด้วยว่าผู้หนึ่งผู้ใดนั้นเป็นใครหรือชื่ออะไรดังที่จำเลยฎีกา คำฟ้องโจทก์ก็สมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ปัญหาประการต่อมา โจทก์มีนายฉอ้อนเป็นพยานเบิกความว่าลายมือชื่อตรงช่องหัวหน้าเขตในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งประทับตรานายฉอ้อน อ้นอุ่นหัวหน้างานรักษาความสะอาดเขตบางกอกน้อยไว้ด้วยนั้นไม่ใช่ลายมือชื่อของพยาน ส่วนลายมือชื่อตรงช่องหัวหน้าเขตในเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งประทับตรานายฉอ้อน อ้นอุ่นหัวหน้างานรักษาความสะอาดเขตบางกอกน้อยไว้ด้วยนั้นเป็นลายมือชื่อของพยาน จำเลยไม่ได้นำสืบแก้ในเรื่องนี้ จึงฟังได้ว่ามีผู้ลงลายมือชื่อของนายฉอ้อนปลอมตรงช่องหัวหน้าเขตในเอกสารหมายจ.1 เกี่ยวกับการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 นั้น โจทก์มีร้อยตำรวจเอกกำจร ชื่นบำรุงรองสารวัตร แผนกตรวจลายมือเขียนลายเซ็นและตัวอักษรพิมพ์ดีดกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือเขียนกรอกข้อความและลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 โดยได้ตรวจพิจารณาลายมือเขียนกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับเปรียบเทียบซึ่งกันและกันดูโดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่ามีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรและตัวเลขเป็นอย่างเดียวกัน จึงลงความเห็นว่าเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันและได้ตรวจพิจารณาลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวเปรียบเทียบซึ่งกันและกันดูโดยละเอียดแล้ว ปรากฏว่า มีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวอักษรเป็นอย่างเดียวกัน จึงลงความเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.8 ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงลายมือเขียนกรอกข้อความและลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ด้วยแล้วก็น่าเชื่อตามรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว จำเลยไม่ได้นำสืบแก้ในเรื่องนี้ จึงฟังได้อีกว่าผู้กรอกข้อความในเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เป็นบุคคลคนเดียวกัน และผู้ที่ลงลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นบุคคลคนเดียวกัน นายฉอ้อนก็เบิกความถึงลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 ว่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยเพราะเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยในสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับเก่า ๆ ดูแล้ว และนายสุพิศนิจสุนกิจ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการเก็บเงินค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะมูลฝอยของสำนักงานเขตบางกอกน้อยในขณะนั้นเบิกความว่า พยานเคยเห็นสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมเก็บขนขยะมูลฝอยที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานเก็บเงินนำมามอบให้ปรากฏว่าลายมือชื่อของจำเลยตรงช่องพนักงานเก็บเงินคล้ายกับลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่าทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าที่สำนักงานเขตบางกอกน้อยมีพนักงานเก็บเงินชื่อว่า “บัญญัติ” ตามเอกสารหมาย จ.2 คนอื่นอีก ย่อมฟังได้ว่ามีพนักงานเก็บเงินชื่อว่า “บัญญัติ” คนเดียวคือจำเลย เมื่อผู้กรอกข้อความในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นบุคคลคนเดียวกันและลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ก็เป็นบุคคลคนเดียวกันดังกล่าวแล้ว และร้อยตำรวจเอกกำจรยังได้ตรวจพิสูจน์ตัวอย่างลายมือเขียนตัวเลขอารบิคของจำเลยโดยเปรียบเทียบกับลายมือเขียนตัวเลขอารบิคที่ขีดเส้นใต้สีแดงในเอกสารหมาย จ.1 และจ.2 แล้วปรากฏว่ามีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของตัวเลขเป็นอย่างเดียวกัน จึงลงความเห็นว่าเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้เขียนกรอกข้อความและลงลายมือชื่อตรงช่องพนักงานเก็บเงินในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เมื่อจำเลยกระทำดังกล่าวในเอกสารหมาย จ.1 โดยปราศจากอำนาจ ทั้งลายมือชื่อนายฉอ้อนเป็นลายมือชื่อปลอมดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสาร ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธมานั้นไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
ปัญหาประการสุดท้ายเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ร้ายแรงนักเป็นเพียงการปลอมใบเสร็จรับเงินจำนวน 120 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยนั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษให้เบาลงเพื่อให้เหมาะสมกับความผิด ประกอบกับจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เคยมีประวัติทางวินัย สมควรให้โอกาสแก่จำเลยโดยรอการลงโทษเพื่อให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะเรื่องกำหนดโทษ ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share