คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การโอนที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115นั้น ต้องเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอน และการโอนนั้นทำให้เจ้าหนี้คนอื่น ๆ เสียเปรียบที่ว่าต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอนนั้น หมายความว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว อันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป จำเลยกับ ว. ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนโอน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของสัญญาจะซื้อจะขายหรือคำมั่นจะซื้อจะขาย อันจะเป็นการก่อสิทธิแก่ ว. ที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ตนได้ จึงถือไม่ได้ว่า ว. เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่แล้วก่อนโอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 115

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้แถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 38882 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยจำเลยได้โอนให้แก่นางสาววิมลศรี วงศ์สังฮะ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2530 อันเป็นการกระทำภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งกลับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และดำเนินการเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยกับผู้รับโอน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันเป็นอำนาจโดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของจำเลยได้จดทะเบียนจำนองไว้กับนายพอศักดิ์ มณีรัตน์ เพื่อเป็นประกันเงินกู้ ซึ่งตามทางสอบสวนเชื่อว่ามีหนี้ต่อกันจริงไม่ใช่เป็นหนี้สมยอมผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งผู้ร้อง การที่จำเลยโอนขายทรัพย์สินให้แก่นางสาววิมลศรีเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายไปชำระหนี้ผู้รับจำนองมิได้เป็นการมุ่งหมายให้ผู้รับจำนองได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ทั้งผู้ร้องก็ไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องต้องเสียเปรียบเนื่องจากผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน และผู้ร้องไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าการขายทรัพย์สินพิพาทค่าตอบแทนไม่สมควรกับราคาขายตามท้องตลาด ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารได้ความว่ามีการจ่ายค่าตอบแทน 500,000 บาท และเป็นราคาที่สมควร จึงเป็นเหตุให้ผู้รับโอนได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะเป็นการกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนกรณีไม่ถือว่าเป็นการกระทำของลูกหนี้โดยมุ่งหมายให้ผู้รับโอนได้เปรียบผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้อื่นตามความหมายในมาตรา 115แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การโอนที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 นั้น ต้องเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นให้แก่เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอน และการโอนนั้นทำให้เจ้าหนี้คนอื่น ๆ เสียเปรียบ ที่ว่าต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอนนั้นหมายความว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้มีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วอันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกับนางสาววิมลศรีไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนโอน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของสัญญาจะซื้อจะขายหรือคำมั่นจะซื้อจะขายอันจะเป็นการก่อสิทธิแก่นางสาววิมลศรีที่จะเรียกร้องให้จำเลยโอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ตนได้ จึงถือไม่ได้ว่านางสาววิมลศรีเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอยู่แล้วก่อนโอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนรายนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 ตามที่ผู้ร้องขอให้ดำเนินการได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share