คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6721/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ลาออกจากงานไปก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นผลให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แต่เมื่อในวันเดียวกับที่การลาออกมีผล โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างผู้บริหารกันจึงเกิดเป็นสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ทำให้โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานตามความหมายใน พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 การพ้นจากตำแหน่งของโจทก์ย่อมเป็นไปตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติดังกล่าว ระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 กำหนดว่าพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์และให้ได้รับผลตอบแทนตามที่จำเลยกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ที่บัญญัติให้การพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างผู้บริหารโดยมีกำหนดเวลา 2 ปี 8 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 ซึ่งตรงกับ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาแท้จริงของคู่สัญญาว่าประสงค์ให้สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงเพราะโจทก์เกษียณอายุ ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยอาศัยอำนาจตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) จึงเป็นกรณีที่โจทก์พ้นตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบการพนักงานของจำเลยและเป็นไปตามผลของกฎหมายดังกล่าว การพ้นตำแหน่งของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป เพราะแม้จำเลยจะให้โจทก์ทำงานต่อไปก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากโจทก์ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยต่อไปได้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างตามข้อ 59 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 1,342,034 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยมีคำสั่งที่ ธ.747/2549 ลงวันที่ 13 กันยายน 2549 ให้โจทก์ออกจากงานเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง หรือเป็นการเลิกจ้าง เห็นว่า เมื่อโจทก์ลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมสิ้นสุดลง แต่เมื่อในวันเดียวกันนั้นโจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาจ้างผู้บริหารกันจึงเกิดสัญญาจ้างแรงงานขึ้นใหม่ทำให้โจทก์มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย เมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์จึงเป็น “พนักงาน” ตามความหมายในพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 การพ้นจากตำแหน่งของโจทก์ย่อมเป็นไปตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 กำหนดว่า พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้พ้นจากตำแหน่งงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และให้ได้รับผลตอบแทนตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง ที่บัญญัติให้การพ้นจากตำแหน่งของพนักงานซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อพิเคราะห์สัญญาจ้างผู้บริหารที่กำหนดให้มีระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 จะเห็นได้ว่าสัญญาจ้างผู้บริหารสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามระเบียบการพนักงานของจำเลยข้อ 17.1 และตรงกับวันที่โจทก์ต้องขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานของจำเลยตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (2) มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (3) และวรรคสอง จึงแสดงให้เห็นเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาว่าประสงค์ที่จะให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะโจทก์เกษียณอายุตามระเบียบของจำเลยและพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 นั่นเอง ดังนั้นการที่จำเลยมีคำสั่งที่ ธ.747/2549 ลงวันที่ 13 กันยายน 2549 ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยอาศัยอำนาจตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยและพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 11 (3) จึงเป็นกรณีที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลยและเป็นไปตามผลของกฎหมายดังกล่าว การพ้นจากตำแหน่งของโจทก์จึงไม่ใช่เกิดจากการกระทำใดที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป เพราะแม้จำเลยจะให้โจทก์ทำงานต่อไปก็ไม่สามารถจะกระทำได้เนื่องจากโจทก์ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายที่จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยต่อไปได้ จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามข้อ 59 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share