คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาหากจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156วรรคท้าย แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายหลังครบกำหนดดังกล่าวแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาจึงถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งนั้นได้อีก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเพราะจำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์นี้ย่อมถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ไปแล้วไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า มิได้กู้เงินโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตถ้าจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ก็ให้นำค่าธรรมเนียมมาชำระภายใน 15 วันต่อมาจำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมมาชำระภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย

จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยให้ดำเนินการไต่สวนอนาถาแล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป

ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของจำเลย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2522 จำเลยเซ็นทราบคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2522 หากจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย แต่จำเลยเพิ่งยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2522 ซึ่งเกินกำหนดอุทธรณ์ตามกฎหมายแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างอนาถาจึงถึงที่สุดแล้วจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งนั้นอีกได้ส่วนที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ก็ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 236 อีกเช่นกัน ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามกฎหมายทั้ง 2 กรณีดังกล่าวแล้ว

ให้ยกฎีกาของจำเลยเสีย

Share