คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรรมการลูกจ้างซึ่งเป็นผู้คัดค้านทำและแจกจ่ายแถลงการณ์ด่วนพิเศษมีข้อความกล่าวถึงผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างว่า “พอเข้าทำงานแล้วบริษัทฯ ก็ยังพูดว่า บริษัทฯ อยากให้เกิดความสามัคคีเหมือนเดิมแต่พอพนักงานเข้ามาทำงานแล้ว ให้ความร่วมมือกับทางบริษัทในการทำงานแต่ทางบริษัทฯ ยังทำให้พนักงานกับสหภาพฯ แตกสามัคคีมาโดยตลอดจนกระทั่งมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2525 ทางบริษัทฯ ได้โยกย้ายคณะกรรมการสหภาพฯ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งและแก้แค้นคณะกรรมการสหภาพฯ และ “ทางสหภาพฯ ยังรู้ข้อมูลอีกว่า พวกเรานัดหยุดงานนั้น พวกที่เข้าทำงานก่อนได้เงินปลอบขวัญอีกมากพอสมควรให้กับพวกที่เข้ามาทำงานอีกโดยที่พวกเราไม่ได้อย่างนี้พวกเราก็เห็นแล้วว่าบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจต่อพนักงาน และบริษัทฯ ต้องการที่จะให้พนักงานแตกแยกกันด้วย ฉะนั้น ขอให้พนักงานเล็งเห็นว่าบริษัทฯ ยังเล่นพวกเราไม่เลิกโดยพยายามจะล้มองค์กรสหภาพฯ” และ”ในเมื่อบริษัทฯ เคยพูดว่าเราจะล้มเรื่องเก่า ๆ และไม่มีการกลั่นแกล้งต่อพนักงานทุกคน…แล้วคุณโกมลพูดที่โรงอาหารเมื่อเราเข้าทำงานในวันแรกแล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงพูดกลับกลอกอย่างนี้ พวกเราจะเชื่อถือได้อย่างไร” ข้อความดังกล่าวแม้จะอ่านรวมกันแล้วก็ยังเป็นการกล่าวหาผู้ร้องว่ามีพฤติการณ์ในทางร้าย กลั่นแกล้งและแก้แค้นผู้คัดค้านทั้งเก้าซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไม่เลิกรา ไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ ผู้ร้องไม่มีความสุจริตใจ ต้องการให้พนักงานแตกความสามัคคี พยายามทำให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรของลูกจ้างเลิกไปและกล่าวหาผู้ร้องว่าเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนแต่ทำให้ลูกจ้างและผู้อ่านข้อความนั้นรู้สึกว่า ผู้ร้องประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ไม่ถูกต้อง และไม่มีคุณธรรมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างทั้งสิ้น การทำและแจกจ่ายแถลงการณ์ด่วนพิเศษดังกล่าวจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับซึ่งร่วมกันกำหนดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับสหภาพแรงงานที่ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกอยู่ผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่กระทำความผิดดังกล่าวได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งเก้าเป็นลูกจ้างผู้ร้องทั้งสองและเป็นกรรมการลูกจ้าง และผู้คัดค้านที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงานกันยงอีเลคทริกแห่งประเทศไทยโดยมีผู้คัดค้านที่ 3 เป็นรองประธานและผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเลขาธิการ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการของสหภาพแรงงานดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกับลูกจ้างอื่นกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่ผู้ร้องทั้งสองผู้เป็นนายจ้างและจงใจทำให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ ผู้คัดค้านดังกล่าวได้ใส่ความผู้ร้องทั้งสองโดยการโฆษณาด้วยเอกสารแจกจ่ายแก่พนักงานลูกจ้างของผู้ร้องทั้งสองและบุคคลทั่วไปโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ร้องทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องทั้งสองผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายเป็นการยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างอื่นของผู้ร้องที่ 1เกิดความแตกแยกในหมู่คณะ และเป็นการแพร่ข่าวที่ไม่เป็นความจริงอันอาจเป็นเหตุให้ผู้ร้องทั้งสองได้รับความเสียหายและทำลายชื่อเสียงของผู้ร้องทั้งสอง และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2535 เวลากลางวัน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ร่วมกันหยุดงานและชักชวนลูกจ้างอื่นของผู้ร้องให้หยุดงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยไม่ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง และไม่แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้ร้องที่ 1 ทราบล่วงหน้า เป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและผิดข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งเก้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินสมทบส่วนบริษัทร้อยละ 5 ตามข้อบังคับด้วย
ผู้คัดค้านทั้งเก้ายื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งเก้าไม่ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อผู้ร้องทั้งสอง ไม่ได้ชักชวนลูกจ้างอื่นของผู้ร้องหยุดงาน การออกแถลงการณ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสมาชิกขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3ถึงที่ 8 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาในลักษณะความผิดเกี่ยวกับชื่อเสียง ตามข้อยกเว้นของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 99 วรรคท้ายฟังได้ว่าผู้คัดค้านดังกล่าวกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่ผู้ร้องทั้งสองและจงใจทำให้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอันเป็นความผิดทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว ตามข้อยกเว้นของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 99 วรรคท้าย ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ชักชวนลูกจ้างของผู้ร้องให้หยุดงานในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังมีผลใช้บังคับ โดยไม่ยื่นข้อเรียกร้องและไม่แจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและผู้ร้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นการยุยง สนับสนุนหรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อบังเอกสารหมาย ร.5 หมวดที่ 9 ข้อ 2.12ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123(5) มีเหตุสมควรให้เลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งเก้าได้ แต่ที่ผู้ร้องขอเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น การจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ยังไม่เป็นข้อโต้แย้งสิทธิ อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งเก้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย ร.3 มีข้อความกล่าวถึงผู้ร้องทั้งสองหลายแห่ง เช่นกล่าวถึงผู้ร้องที่ 1 ว่า “พอเข้าทำงานแล้วบริษัทฯ ก็ยังพูดว่าบริษัทฯ อยากให้เกิดความสามัคคีเหมือนเดิม แต่พอพนักงานเข้ามาทำงานแล้วให้ความร่วมมือกับทางบริษัทในการทำงาน แต่ทางบริษัทฯยังทำให้พนักงานกับสหภาพฯ แตกสามัคคีมาโดยตลอดจนกระทั่งมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 ทางบริษัทฯ ได้โยกย้ายคณะกรรมการสหภาพฯโดยมีเจตนากลั่นแกล้งและแก้แค้นคณะกรรมการสหภาพฯ” และ “ทางสหภาพฯยังรู้ข้อมูลอีกว่าพวกเรานัดหยุดงานนั้น พวกที่เข้าทำงานก่อนได้เงินปลอบขวัญอีกมากพอสมควรให้กับพวกที่เข้ามาทำงานอีกโดยที่พวกเราไม่ได้อย่างนี้ พวกเราก็เห็นแล้วว่าบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจต่อพนักงานและบริษัทฯ ต้องการที่จะให้พนักงานแตกแยกกันด้วย ฉะนั้นขอให้พนักงานเล็งเห็นว่า บริษัทฯ ยังเล่นพวกเราไม่เลิกโดยพยายามจะล้มองค์กรสหภาพฯ” และกล่าวถึงผู้ร้องที่ 2 ว่า “ในเมื่อบริษัทฯเคยพูดว่าเราจะลืมเรื่องเก่า ๆ และไม่มีการกลั่นแกล้งต่อพนักงานทุกคน… แล้วคุณโกมลพูดที่โรงอาหารเมื่อเราเข้าทำงานในวันแรกแล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงพูดกลับกลอกอย่างนี้ พวกเราจะเชื่อถือได้อย่างไร” ข้อความดังกล่าวแม้จะอ่านรวมกันแล้วก็ยังเป็นการกล่าวหาผู้ร้องที่ 1 ว่ามีพฤติการณ์ในทางร้าย กลั่นแกล้งและแก้แค้นผู้คัดค้านทั้งเก้าซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไม่เลิกรา ไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีความสุจริตใจ ต้องการให้พนักงานแตกความสามัคคี พยายามทำให้สหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรของลูกจ้างเลิกไป และกล่าวหาผู้ร้องที่ 2 ว่าเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอยซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนแต่ทำให้ลูกจ้างและผู้อ่านข้อความนั้นรู้สึกว่า ผู้ร้องทั้งสองประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ไม่ถูกต้อง และไม่มีคุณธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างทั้งสิ้นการทำและแจกจ่ายแถลงการณ์ด่วนพิเศษเอกสารหมาย ร.3จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดร้ายแรงในหมวด 9 บทที่ 2 โทษทางวินัย ข้อ 2.21 ตามข้อบังคับเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งร่วมกันกำหนดขึ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับสหภาพแรงงานกันยงอีเลคทริกแห่งประเทศไทยผู้ร้องทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่กระทำความผิดดังกล่าวได้ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วการวินิจฉัยถึงปัญหาตามอุทธรณ์ที่ว่าข้อความตามเอกสารหมาย ร.3 เป็นความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share