คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จำเลยฟ้องแย้งว่าไม่ได้เลิกจ้าง แต่โจทก์หยุดงานไปเองจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าเหตุที่โจทก์หยุดงานไปนั้น เป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างตามคำฟ้องของโจทก์หรือจำเลยหยุดงานไปเองตามฟ้องแย้งของจำเลย ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าว เพราะโจทก์ขายสินค้าได้ต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินสำหรับส่วนของสินค้าที่ขายต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยมากกว่าจำนวนที่กำหนด และมีสิทธิได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าจากจำเลยตามคำฟ้องหรือขายสินค้าได้น้อยกว่าที่กำหนด และจะต้องรับผิดชำระเงินให้จำเลยตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเช่นกัน ฟ้องแย้งตามจำเลยจึงเป็นฟ้องแย้งที่ชอบจะรับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 31

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ30,000 บาท มีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วันเป็นเงิน 90,000 บาท ค่าจ้างในเดือนสิงหาคม 2535 ที่ค้างจ่ายเป็นเงิน 30,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา30 วัน เป็นเงิน 30,000 บาท ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าเป็นเงิน 15,000 บาทและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 6162/2535 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุดโดยจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมจำเลยไม่ต้องชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้อง กล่าวคือจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์หยุดงานไปเอง โดยไม่ได้แจ้งจำเลยทราบล่วงหน้าตามสมควร และไม่ได้ส่งมอบงานที่โจทก์รับผิดชอบให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน 70,000 บาทเพราะทำให้งานของจำเลยต้องหยุดชะงัก ต้องเสียเวลาหาผู้จัดการฝ่ายขายใหม่ซึ่งขณะนี้ยังหาไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าจ้างค้างจ่ายประจำเดือนสิงหาคม 2535 จำนวน 30,000 บาทเพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ไม่มารับเงินเดือนไปเองจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย มีหน้าที่ขายพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปของจำเลย โดยโจทก์ให้สัญญากับจำเลยว่าโจทก์จะขายสินค้าให้จำเลยเฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 6,000 ตารางเมตรหากขายได้ต่ำกว่าจำนวนดังกล่าว โจทก์ยอมให้จำเลยหักเงินเดือนในอัตราตารางเมตรละ 4.50 บาท ของผลต่างระหว่างยอดขายในเดือนนั้นกับ 6,000 ตารางเมตร หากโจทก์ขายได้สูงกว่า 6,000 ตารางเมตรจำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มให้โจทก์ในอัตราเดียวกัน โดยคิดยอดขายกันทุก 3 เดือน โจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้เฉลี่ยต่ำกว่ายอดที่กำหนดไว้ดังกล่าวตลอดมา โจทก์ขอให้คิดหักเงินกันเมื่อทำงานครบ 1 ปีจำเลยอนุโลมให้ตามที่ได้ขอ เมื่อรวมยอดขายถึงเดือนสิงหาคม 2535โจทก์ขายสินค้าได้ต่ำกว่ายอดที่กำหนดไว้เฉลี่ยเดือนละ 1,651.29ตารางเมตร คิดตารางเมตรละ 4.50 บาท เป็นเงิน 7,430.81 บาทต่อเดือนรวมทั้งปีเป็นเงิน 89,169.66 บาทจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายสินค้าให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ให้ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์หยุดงานไปเองเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท และใช้ค่าที่ขายสินค้าได้ไม่ถึงตามที่กำหนดเป็นเงิน 89,169.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางสั่งคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยว่ารับเป็นคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์จำเลยฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์หยุดงานไปเองจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่า เหตุที่โจทก์หยุดงานไปนั้น เป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามคำฟ้องของโจทก์ หรือจำเลยหยุดงานไปเองตามฟ้องแย้งของจำเลยฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมของโจทก์และที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยค้างจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าจำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจากจำเลย เพราะโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยได้ต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชดใช้เงินสำหรับส่วนของสินค้าที่ขายต่ำกว่าที่กำหนดไว้นั้นก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันโดยมีข้ออ้างที่เกี่ยวพันกันว่าโจทก์ขายสินค้าให้จำเลยมากกว่าจำนวนที่กำหนดและมีสิทธิได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้าจากจำเลยตามฟ้อง หรือขายสินค้าได้น้อยกว่าที่กำหนดและจะต้องรับผิดชำระเงินให้จำเลยตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเช่นกัน ด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องแย้งที่ชอบจะให้รับไว้พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป

Share