คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ต้องเสียหายจากการกระทำละเมิดสามารถฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้ต้องเสียหายเข้าชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหาย ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ในนามของโจทก์เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และ 880 และกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนต้องใช้อายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 คือ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย จะนำอายุความละเมิดตาม มาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2533นายมงคล ศรีบุญเรือง ลูกจ้างของบริษัทปรินดา จำกัด ได้ขับรถยนต์บรรทุกของบริษัทปรินดา จำกัด ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยในทางการที่จ้างโดยความประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน2ร-9821 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้โจทก์ต้องเสียค่าจ้างรถ ค่าแรงในการซ่อมและค่าอะไหล่รวมเป็นเงินทั้งสิ้น21,693 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 21,693 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บริษัทปรินดา จำกัดไม่ได้แจ้งเหตุให้จำเลยทราบตามเงื่อนไขสัญญาประกันภัย ข้อ 1.10ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนความผูกพันที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงยังไม่เกิด นายมงคล ศรีบุญเรือง ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทปรินดา จำกัด เหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ร-9821 กรุงเทพมหานคร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดความเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์ฟ้องมูลละเมิดเกินกว่า 1 ปี นับจากวันรู้เหตุละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความละเมิด ขอให้ยกฟ้อง
ในวันสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ หากวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความจำเลยยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เต็มตามฟ้องประเด็นนอกนั้นคู่ความขอสละ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เป็นการฟ้องตามสัญญาประกันภัย ต้องนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 มาใช้บังคับโจทก์ฟ้องยังไม่พ้น 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีไม่ขาดอายุความพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 24,795 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่โจทก์แล้ว โจทก์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่ากรณีที่โจทก์รับช่วงสิทธิ ของเจ้าของรถยนต์คันที่ถูกกระทำละเมิด ฟ้องให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายจากวินาศภัยที่รถยนต์คันซึ่งจำเลยรับประกันภัยค้ำจุนไว้ ก่อขึ้นด้วยความประมาทเลินเล่อนั้น ใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเกิดจากสัญญาประกันภัยค้ำจุนที่จำเลยทำกับผู้เอาประกันภัยซึ่งจำเลยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดจากรถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้ก่อขึ้นแก่ขึ้นแก่บุคคลผู้ต้องเสียหาย และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรงตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 บัญญัติไว้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ต้องเสียหายเข้าใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ต้องเสียหายควรจะได้รับจากจำเลยโดยตรงนั้นแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหาย ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรงในนามของโจทก์เองได้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 226 และมาตรา 880 บัญญัติไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่อาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน อันเป็นบทบัญญัติในลักษณะ 20 หมวด 2 ส่วนที่ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามมูลหนี้ละเมิด จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับไม่ได้อุทธรณ์ข้อกฎหมายของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share