คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยยอมรับว่าได้ลงชื่อไว้ในช่องผู้กู้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่ทำไว้กับโจทก์ แต่ต่อสู้ว่าขณะที่ลงชื่อยังไม่ได้มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไป แล้วโจทก์ไปกรอกจำนวนเงินเพิ่มเติมภายหลังซึ่งสูงกว่าที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ ดังนี้ เท่ากับจำเลยต่อสู้ว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม จำเลยจึงนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 75,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนตั้งแต่วันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่ชำระ ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 106,438 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 10,000 บาทและได้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โดยมิได้กรอกข้อความต่อมาโจทก์นำไปกรอกข้อความโดยทุจริต โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยนำมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2532เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 5มิถุนายน 2529 ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์สำหรับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเมื่อรวมกับต้นเงิน 75,000 บาท แล้วต้องไม่เกิน 106,438 บาท เท่าที่โจทก์ขอมา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 มาแสดง ซึ่งจำเลยยอมรับว่าได้ลงชื่อในช่องผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 จริง และตามเอกสารดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมจึงนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสองน่าเชื่อว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปตามฟ้อง ไม่ใช่เอกสารปลอมดังจำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share