คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ว่าการร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษานั้น ใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์ อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น จำเลยไม่เคยทราบว่าตนถูกฟ้องทั้งปรากฏว่ามีผู้แอบอ้างเป็นจำเลยเข้ามาดำเนินคดีในฐานะจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยเพิ่งทราบภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ดังนี้จำเลยย่อมชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินไปโดยผิดระเบียบได้ตามมาตรา 27 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้สมคบกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีหมายเลขแดงที่ 69/2529 ของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ยอมยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 128 หมู่ที่ 1 ตำบลหนองตางูอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 2ความจริงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริงเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย จึงขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจำเลยที่ 2 และมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 2 ยึดถือไว้เป็นประกันเมื่อจำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกเงินกู้จำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 2โดยสุจริต จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ใช้อำนาจและตำแหน่งบีบบังคับจำเลยที่ 1 ให้ทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์และใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความว่าทำหนังสือรับรองการทำประโยชน์หาย โดยจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ตกลงที่จะซื้อขายกันจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินและมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ไว้จริง จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดิน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2529 ระหว่างนายทรงพล ประสิทธิโชค โจทก์นางสาวสายฝน ขุมเพ็ชร์ จำเลย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 195/2529หมายเลขแดงที่ 69/2529 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน2533 ว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหมายเรียกใด ๆ ของศาลมาก่อนเพิ่งจะได้รับหมายนัดให้ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่20 สิงหาคม 2533 เป็นครั้งแรกเมื่อขอตรวจสำนวนในวันที่ 27 สิงหาคม2533 จึงได้ทราบว่ามีการแอบอ้างว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นางเรณู ขุมเพ็ชร์ มารดาจำเลยที่ 1 เข้าดำเนินคดีแทนความจริงจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้นางเรณูเข้าดำเนินคดีแทน และนางเรณูก็ไม่เคยแต่งตั้งนายเมธา บุญทิพย์จำปา เป็นทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาที่นายเมธาดำเนินไปแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการผิดระเบียบ ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 การส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องตามรายงานของเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2529 ที่ว่าได้ปิดหมายเรียกและสำเนาฟ้องไว้ยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสองนั้นก็ไม่เป็นความจริง จำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบว่าถูกฟ้อง จึงไม่มีโอกาสได้ยื่นคำให้การและนำพยานเข้าสืบหักล้างพยานโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ได้นำเสนอหลักฐานต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คำพิพากษาของศาลจะเปลี่ยนไป เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จำเลยที่ 1 ขอคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ขอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ และมีคำสั่งเรียกให้จำเลยที่ 1 เข้าต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27ต้องยื่นต่อศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบก่อนศาลนั้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจึงไม่ชอบ และไม่ใช่เป็นการยื่นในชั้นอุทธรณ์เพราะศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว ทั้งไม่เป็นการยื่นในชั้นฎีกาเพราะสำนวนยังไม่ขึ้นสู่ศาลฎีกา และศาลฎีกาก็ไม่ใช่ศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการผิดระเบียบอยู่สองประการคือ ประการแรก ไม่มีการปิดหมายเรียกและสำเนาฟ้อง ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ดังที่เจ้าหน้าที่รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1ไม่เคยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องมาก่อนเพิ่งทราบเมื่อได้รับหมายนัดจากศาลชั้นต้นให้ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 20 สิงหาคม2533 เมื่อจำเลยที่ 1 ขอตรวจสำนวนในวันที่ 27 สิงหาคม 2533จึงได้ทราบเหตุในประการที่สองอีกว่ามีผู้แอบอ้างเป็นจำเลยที่ 1มอบอำนาจให้นางเรณูมารดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้นางเรณูดำเนินคดีแทนและนางเรณูก็ไม่เคยตั้งนายเมธาให้เป็นทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีโอกาสเสนอหลักฐานในการต่อสู้คดีแต่ต้น หากจำเลยที่ 1 ได้ต่อสู้คดีแล้วคำพิพากษาของศาลจะเปลี่ยนไป เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่เคยกระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังคำร้องของจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่ชอบ เพราะเท่ากับไม่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อแก้คดีตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 บัญญัติไว้ และการที่จำเลยที่ 1 มิได้มอบอำนาจให้นางเรณูดำเนินคดีแทน ทั้งนางเรณูมิได้ตั้งนายเมธาให้เป็นทนายความของจำเลยที่ 1 แต่นายเมธาได้ยื่นคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยที่ 1 ตลอดมาเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นหลงผิดดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนกระทั่งได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีนั้น กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นการไม่ชอบ เพราะนายเมธาไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 1 ได้ หากจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันที่จะถูกบังคับตามคำพิพากษาดังกล่าวโดยไม่อาจจะร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความยุติธรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับความเสียหายจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินไปโดยผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคแรก ดังนั้น ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้วได้ความจริงตามคำร้องเพียงใด ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาย้อนไปถึงกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียใหม่ได้เพียงนั้นที่ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่าการร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจะต้องยื่นต่อศาลที่ดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบก่อนศาลนั้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองให้ยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา เพราะบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองที่บัญญัติว่า”ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่เวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ” ย่อมเห็นได้ว่า บัญญัติขึ้นใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้นจะใช้กับกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วหาได้ไม่ เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติที่จะบังคับให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเสียก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาโดยที่ตนยังไม่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้รับคำร้องของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนต่อไปค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่แล้วแต่กรณี

Share