คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นแล้วว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดหลายกรรม แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตราอันเป็นบทลงโทษไว้ด้วยก็เห็นเจตนาได้ว่าข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพแล้วนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปีจำเลยต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมคือจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2531 จึงแล้วเสร็จรวมเป็นเวลา 127 วัน เมื่อเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามระงับการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้รับคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานทำการก่อสร้างจนอาคารเสร็จ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 65, 69, 70, 71, 72, 79, 80กฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และขอให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40 วรรคหนึ่ง, 65, 69, 70, 72ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ10,000 บาท และปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละวันละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2531 ปรับคนละ 1,270,000บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2ที่ 3 คนละ 3 เดือน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 635,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้ระงับการก่อสร้างนั้น เป็นกรณีตามมาตรา 67 ประกอบด้วยมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์มิได้ระบุมาตรา 67 ไว้ในคำขอท้ายฟ้องจึงให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานอีกกระทงหนึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 70 ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันวันละ 10,000 บาท เป็นเงิน 1,140,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละ 570,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นแล้วว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดหลายกรรมและได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนมาตรา 31 ประกอบด้วยมาตรา 69, 70กับได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามที่ฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 6, 70 ไว้ในคำฟ้องและในคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้อ้างมาตรา 40, 69, 70 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำตามคำฟ้องนั้นเป็นความผิดลงไว้กับขอให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตามกฎหมายซึ่งเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 ไว้ด้วย แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 67 อันเป็นบทลงโทษไว้ด้วยก็เห็นเจตนาได้ว่าข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพแล้วนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลดโทษปรับให้น้อยลงนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วเห็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31, 65, 69, 70 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 67, 69, 70 นั้นศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 67 ประกอบมาตรา 69 และ 70 คนละวันละ 10,000 บาท เป็นการปรับจำเลยตามอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้ปรับได้เพียงอัตราเดียวศาลฎีกาจึงไม่สามารถจะปรับจำเลยให้ต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามที่จำเลยฎีกาได้
พิพากษายืน

Share