คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยโจทก์ข้อหากระทำผิดวินัยเท่านั้น จำเลยจะมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์หรือไม่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้ โจทก์จะมีความผิดหรือไม่ก็ต้องรอฟังผลการสอบสวนก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐใช้ชื่อย่อว่า อ.ส.ค. ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนผู้อำนวยการ โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกตรวจความปลอดภัยในงาน โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักตรวจสอบภายใน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535จำเลยที่ 1 ออกคำสั่งที่ 285/2535 เรื่อง สอบวินัยพนักงานโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง กล่าวหาว่า โจทก์ทั้งสองได้นำความเห็นเสนอแนะต่ออดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ตลอดจนดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อข้อบังคับ อ.ส.ค.ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง การถอดถอน การเลื่อนขั้นเงินเดือนระเบียบวินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ของพนักงาน (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2515 ข้อ 39, ข้อ 40, ข้อ 42 และข้อ 48 เพราะในขณะออกคำสั่งโจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งในระดับหัวหน้าแผนกโจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนัก หากจำเลยทั้งสองประสงค์จะตั้งกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จะต้องนำเรื่องเสนอต่อประธานคณะกรรมการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยให้พิจารณาและลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยแต่จำเลยที่ 2 หาได้ดำเนินการตามขั้นตอนของข้อบังคับดังกล่าวไม่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงของตนเองและวงศ์ตระกูล ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเพิกถอนคำสั่งที่ 285/2535 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 5,000,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองนำคำพิพากษาของศาลพิมพ์ในหนังสือข่าว อ.ส.ค. ฉบับที่ออกในเดือนถัดจากเดือนที่ศาลมีคำพิพากษา
ศาลแรงงานกลางสั่งว่า จำเลยเพียงแต่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยของโจทก์ทั้งสอง กรณีจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องรอผลของการสอบสวนก่อน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยโจทก์ทั้งสองข้อหากระทำผิดวินัยเท่านั้นจำเลยทั้งสองจะมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทั้งสองหรือไม่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้ โจทก์ทั้งสองจะมีความผิดหรือไม่ก็ต้องรอฟังผลการสอบสวนก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share