คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยตกลงให้โจทก์เรียกค่าจ้างว่าความตามปริมาณและระยะเวลาการทำงาน แต่โจทก์ก็ได้แนบเอกสารท้ายฟ้องแสดงรายการค่าจ้างว่าความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าป่วยการเป็นเงินรวม 249,440 บาท ให้จำเลยทราบ จึงเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาตามฟ้อง ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความประกอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานจำเลยซึ่งมีแต่เพียงพยานบุคคลเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลย ค่าบริการเมื่อไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นค่าบริการอะไรในส่วนไหนศาลย่อมไม่กำหนดเงินในส่วนนี้ให้ สำหรับค่าสินจ้างว่าความที่โจทก์เรียกมาเป็นเงิน 200,000 บาท นั้น ปรากฏว่าในคดีที่จำเลยถูกธนาคารฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากนัก และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ว่าความโดยต้องซักถามพยานเป็นข้อยุ่งยากและโจทก์ต้องไปแสวงหาพยานหลักฐานโดยยากลำบากแต่อย่างใดสมควรกำหนดสินจ้างว่าความตามส่วนของงานที่ทำไปเป็นเงิน 80,000 บาทส่วนค่าป่วยการนั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า”ป่วยการ” หมายถึงเสียงานเสียการ และ “ค่าป่วยการ” หมายถึงเรียกค่าชดเชยการงานเวลาที่เสียไปการที่โจทก์เดินทางไปว่าความต่างจังหวัดเป็นการเดินทางไปทำงานในหน้าที่ของทนายความโดยตรงจะเรียกว่าเป็นการเสียงานเสียเวลาไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างซึ่งจำเลยถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฟ้องให้ชำระหนี้ โดยตกลงชำระค่าจ้างตามปริมาณงานและระยะเวลาที่ทำในศาลชั้นต้น โจทก์ตกลงรับจ้างและเข้าเป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลย จนกระทั่งศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้มีหนังสือรายงานผลคดีและเรียกเก็บเงินค่าจ้างและค่าใช้จ่ายจากจำเลย 249,440 บาท จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 254,719 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายคำฟ้องให้แจ้งชัดว่า โจทก์มีหลักเกณฑ์คิดคำนวณค่าจ้างว่าความอย่างไร จำเลยว่าจ้างผู้มีชื่อเป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลยในราคา 25,000 บาท ไม่เคยว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลย การที่โจทก์เข้าแก้ต่างแทนจำเลยเป็นการเข้าทำหน้าที่แทนและร่วมกับผู้มีชื่อในฐานะเพื่อนร่วมทำงานด้วย ทั้งจำเลยได้ชำระค่าจ้างจำนวน 25,000 บาท ให้ผู้มีชื่อไปครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่19 มกราคม 2530 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะวินิจฉัยฎีกาข้อแรกของจำเลยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีหลักเกณฑ์คิดคำนวณค่าจ้างว่าความกันอย่างไร เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เรียกค่าจ้างว่าความตามปริมาณและระยะเวลาการทำงานแต่โจทก์ก็ได้แนบเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แสดงรายการค่าจ้างว่าความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าป่วยการเป็นเงินรวม 249,440 บาท ให้จำเลยทราบจึงเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาตามฟ้อง ถือได้ว่า ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาจำเลยมีว่า จำเลยได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2528 นายประดิษฐ์ ทีฆกุลมาติดต่อว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความแก้ต่างให้จำเลยในคดีที่จำเลยถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น นายประดิษฐ์นำสำเนาฟ้องตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.1 มาให้โจทก์ โจทก์ตกลงรับว่าความให้จำเลย จำเลยนำใบแต่งทนายมามอบให้โจทก์ โจทก์ทำคำให้การไปยื่นต่อศาลจังหวัดขอนแก่นตามภาพถ่ายใบแต่งทนายและคำให้การจำเลย เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 โจทก์เข้าทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างให้จำเลยโดยเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลด้วยตนเอง และรายงานผลของการดำเนินคดีให้จำเลยทราบ ตามภาพถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาและรายงานผลการดำเนินคดีให้จำเลยทราบ เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.17 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน2529 ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวตามภาพถ่ายคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.18 จำเลยมีตัวจำเลย นายประดิษฐ์ ทีฆกุล และนายกอบเกียรติ ชิระกุล เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้ตกลงว่าจ้างนายประดิษฐ์เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลยในคดีที่จำเลยถูกธนาคารกรุงเทพ จำกัด ฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น โดยตกลงค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 25,000 บาท นายประดิษฐ์ประสบอุบัติเหตุ จึงให้โจทก์ว่าความแทน จำเลยไม่เคยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความหลังจากศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาคดีแล้ว จำเลยชำระค่าจ้างให้นายประดิษฐ์ 30,000 บาท และชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่โจทก์ 21,000 บาท เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความประกอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล มีน้ำหนักน่าเชื่อยิ่งกว่าพยานจำเลย ซึ่งมีแต่เพียงพยานบุคคลเบิกความลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความแก้ต่างให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าจ้างว่าความ ค่าบริการและค่าป่วยการให้โจทก์มารวม 100,000 บาท นั้น เหมาะสมหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดตามฟ้อง จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดไม่ชอบและมากเกินไปปรากฏตามคำบรรยายฟ้อง และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข2 โจทก์คิดค่าบริการวิชาชีพไว้ สำหรับการจัดเตรียมรายละเอียดและร่างคำให้การ เตรียมแนวคำเบิกความจำเลย ซักซ้อมพยาน ไปศาลวันนัดชี้สองสถาน ไปศาลในวันนัดสืบพยาน ฯลฯ ยื่นแถลงการณ์ปิดคดีเป็นเงิน200,000 บาท สำหรับค่าป่วยการในการเดินทางไปศาลจังหวัดขอนแก่น5 ครั้ง และไปศาลจังหวัดนครนายก 2 ครั้ง เป็นเงิน 50,000 บาท และสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 20,440 บาท รวม 270,440 บาท เบิกล่วงหน้า 21,000 บาท แล้วคงเหลือ 249,440 บาท ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดสินจ้างให้ 50,000 บาท ส่วนค่าป่วยการนั้นไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกได้ในมูลกรณีใดไม่กำหนดให้ โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นค่าจ้างว่าความ ค่าบริการ และค่าป่วยการเป็นเงินรวม 100,000 บาท โดยมิได้แยกว่าส่วนใดเป็นเงินจำนวนเท่าใด และสำหรับค่าบริการนั้นก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นค่าบริการอะไรในส่วนไหน ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดเงินในส่วนนี้ให้ คงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า ค่าสินจ้างว่าความและค่าป่วยการควรเป็นเท่าใด สำหรับค่าสินจ้างว่าความที่โจทก์เรียกมาเป็นเงิน 200,000บาท นั้น ปรากฏว่าโจทก์เป็นทนายความให้จำเลยในคดีที่จำเลยถูกธนาคารฟ้องให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีประเด็นต่อสู้ที่สำคัญมีว่า สัญญาค้ำประกันปลอมหรือไม่ โจทก์ยื่นคำให้การความยาว 4 หน้าครึ่ง เห็นว่ามิใช่เป็นคดีที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนมากนัก โจทก์ได้เดินทางไปว่าความที่ศาลจังหวัดขอนแก่น6 ครั้ง และตามประเด็นไปว่าความที่ศาลจังหวัดนครนายก 1 ครั้ง แต่ละครั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ว่าความโดยต้องซักถามพยานเป็นข้อยุ่งยากประการใด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องไปแสวงหาพยานหลักฐานโดยยากลำบากอย่างใด อย่างไรก็ดี ต่อมาศาลจังหวัดขอนแก่นได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลย ธนาคารโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้ตั้งทนายอื่นยื่นคำแก้อุทธรณ์ไปแล้ว ดังนี้ แม้ว่าโจทก์จะมิได้ทำหน้าที่ทนายความจำเลยจนถึงที่สุด แต่จากการทำงานของโจทก์นั้นนับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยไม่น้อย เห็นสมควรกำหนดสินจ้างว่าความแก่โจทก์ตามส่วนของงานที่ได้ทำไปเป็นเงิน 80,000 บาท สำหรับค่าป่วยการนั้น ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏแจ้งชัดว่า เป็นค่าป่วยการเนื่องจากเหตุอย่างใดคงปรากฏตามรายการค่าบริการวิชาชีพ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ว่าเป็นค่าป่วยการในการเดินทางไปศาลจังหวัดขอนแก่น 5 ครั้ง และไปศาลจังหวัดนครนายก 2 ครั้ง เห็นว่า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า ป่วยการ หมายถึง เสียงานเสียการ และค่าป่วยการหมายถึง เรียกค่าชดเชยการงานเวลาที่เสียไป การที่โจทก์เดินทางไปว่าความต่างจังหวัดเป็นการเดินทางไปทำงานในหน้าที่ของทนายความโดยตรง จะเรียกว่าเป็นการเสียงานเสียเวลาได้อย่างไร หากจะเกิดความยากลำบากกว่าปกติอยู่บ้าง โจทก์ก็อาจคำนวณเพิ่มเอาได้จากส่วนของค่าสินจ้างว่าความอยู่แล้ว และหากจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างไร โจทก์ก็เบิกค่าใช้จ่ายไปจากโจทก์แล้ว 21,000 บาท เกินจากที่จ่ายจริงไป 560 บาทที่โจทก์อ้างว่าค่าป่วยการนี้เป็นเงินตอบแทนทางสำนักงาน กรณีก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าจะให้เงินค่าป่วยการจำนวนนี้เป็นพิเศษอย่างไร จึงเห็นสมควรไม่กำหนดค่าป่วยการตามฟ้องให้สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าสินจ้างว่าความแก่โจทก์ 80,000บาท หักค่าใช้จ่ายที่โจทก์เบิกเกินไป 560 บาท คงเหลือเป็นเงิน79,440 บาท
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันไหน เห็นว่า คดีนี้ในคำฟ้องข้อ 3 โจทก์ได้ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2530 อันเป็นวันที่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถามจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์นับจากวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกันศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 79,440 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 มกราคม 2530ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share