คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7550/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(3) มีสองกรณี กรณีแรกคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด กรณีที่สองหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสียเมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งกรณีที่สองนี้แปลความได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีก็คือศาลที่ออกหมายบังคับคดีอันได้แก่ศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย และจำเลยถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาจนกระทั่งจำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ไปบางส่วน แต่ในเมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินที่รับชำระไปบางส่วนดังกล่าวนั้นมาคืนให้แก่จำเลยแสดงว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้วจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ในศาลฎีกา ปรากฏว่าคดีประธานของคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ชนะคดีบางส่วนซึ่งยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน หากจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับไปเกินกว่าที่โจทก์ชนะคดี โจทก์ก็ต้องคืนเงินส่วนที่เกินไปจากที่โจทก์ชนะคดีนั้นให้แก่จำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของนายแถม ชอบฝึก เจ้ามรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยเบิกถอนเงินมรดกของเจ้ามรดกซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารในนามของจำเลย จำนวน 50,042,452 บาทพร้อมดอกเบี้ย แล้วมอบให้โจทก์ทั้งสองเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกต่อไป ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยถอนเงินฝากในบัญชีจำเลยที่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาธนบุรี (บัญชี 10 เล่ม ลำดับที่ 2ถึง 11 ตามเอกสารหมาย จ.22 แผ่นที่ 2-3) ธนาคารศรีนคร จำกัดสาขาวงเวียนใหญ่ (บัญชี 3 เล่ม เอกสารหมาย จ.23) และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขากาญจนบุรี (บัญชี 2 เล่มเอกสารหมาย จ.24) เงินจำนวน 5,440,000 บาท ที่ระบุว่าโอนจากกองทุนนายแถม ชอบฝึก ตามเอกสารหมาย จ.6 พร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตโดยให้จำเลยจัดหาหลักประกันมาวางตามกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด มิฉะนั้นให้ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยจำเลยไม่สามารถหาหลักประกันมาวางตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดได้ คำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยจึงถูกยกตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและออกหมายบังคับคดีในเวลาต่อมา เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองไปบางส่วนเป็นเงินจำนวน18,665,248.18 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินที่รับไปแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองนำเงินจำนวน 18,665,248.18บาท มาคืนแก่โจทก์และชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีหักจากเงินของจำเลยภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดีที่ให้โจทก์ส่งคืนเงินและชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมไว้จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองคืนเงิน 18,665,248.18 บาท ให้แก่จำเลยและให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการบังคับคดีที่หักจากเงินของจำเลย และให้ศาลชั้นต้นงดการถอนการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(3) บัญญัติว่า “ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้ (3) ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด หรือหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้น ได้ถูกกลับแต่เพียงบางส่วนการบังคับคดีอาจดำเนินต่อไปจนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เหตุที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีมีอยู่สองกรณี กรณีแรก คำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีถูกกลับในชั้นที่สุด กรณีที่สอง หมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำหรับกรณีแรกมีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถอนการบังคับคดีได้ก็ต่อเมื่อคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีถูกกลับในชั้นที่สุด ส่วนกรณีที่สอง พิจารณาข้อความตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ว่า หมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย กับเมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบกันแล้ว แปลความได้ว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีก็คือศาลที่ออกหมายบังคับคดีอันได้แก่ศาลชั้นต้นนั่นเอง ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสอง และจำเลยถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าว จนกระทั่งจำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองไปแล้วบางส่วน จำนวน 18,665,248.18 บาทแต่ในเมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองนำเงินจำนวน 18,665,248.18 บาทมาคืนให้แก่จำเลย พร้อมกับชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีหักจากเงินของจำเลยตามคำร้องขอของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว แสดงว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีแล้ว ซึ่งย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ ฉะนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) อนึ่งระหว่างพิจารณาคดีนี้ในชั้นฎีกา ปรากฏว่าคดีประธานของคดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า “ให้จำเลยถอนเงินฝากในบัญชีชื่อจำเลยที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาวงเวียนใหญ่ (บัญชี 3 เล่มเอกสารหมาย จ.23) หรือบัญชีทรัพย์มรดกของนายแถม ชอบฝึกเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 อันดับที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยคืน แก่โจทก์ทั้งสองนำไปแบ่งปันกันในระหว่างทายาทของนายแถม หากจำเลย ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์” ตามคำพิพากษาดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ทั้งสองชนะคดีตามคำพิพากษาฎีกาเพียงบางส่วนซึ่งยังไม่ทราบจำนวนแน่นอน หากจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้รับไปเกินกว่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี โจทก์ทั้งสองก็ต้องคืนเงินจำนวนนั้นให้แก่จำเลย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่สำหรับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองจะต้องคืนให้แก่จำเลยนั้น ให้คืนเพียงเท่าจำนวนที่โจทก์ทั้งสองได้รับไปเกินกว่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา

Share