คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6594/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ระบุชื่อสัญญาว่า “สัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย” เรียกโจทก์ว่าตัวการ เรียกจำเลยว่าตัวแทนข้อความในสัญญาข้อหนึ่งใจความว่า “ตัวแทนสัญญาว่าจะจำหน่ายปุ๋ยให้แก่เกษตรกรในนามของตนเองในราคาและเงื่อนไข ดังนี้” สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 833 การชำระราคาปุ๋ยจึงต้องปรับตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง ซึ่งเมื่อข้อสัญญากำหนดว่าตัวแทนค้าต่างจะต้องรับผิดในหนี้หรือราคาปุ๋ยต่อตัวการ ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะได้รับชำระหนี้ค่าปุ๋ยจากผู้ซื้อคือเกษตรกรแล้วหรือไม่จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยที่ค้างแก่โจทก์ มิใช่รับผิดเฉพาะกรณีที่ได้รับเงินค่าปุ๋ยมาแล้วเท่านั้น เมื่อคดีฟังได้ว่า มีคนนำเอาสัญญาค้ำประกันของธนาคารไปจากการครอบครองของโจทก์ โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมแล้วเอาสัญญาค้ำประกันปลอมไว้แทนและจำเลยเอาสัญญาค้ำประกันภัยฉบับแท้จริงไปมอบคืนแก่ธนาคาร กรณีจึงมิใช่เรื่องโจทก์เวนคืนหรือมอบหมายให้ผู้ใดเวนคืนหรือมอบหมายให้ผู้ใดเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งสิทธิแก่ธนาคารตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันได้ระงับลงแล้ว ธนาคารผู้ค้ำประกันจำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น สัญญาระบุว่า “ในกรณีตัวแทนผิดนัดไม่ส่งเงินค้างชำระภายในกำหนด ตัวแทนยินยอมให้ตัวการคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาทบวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเงินเสร็จสิ้น” นั้น การคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาท และเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีดังกล่าว ย่อมเป็นการกำหนดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยของเบี้ยปรับ หรือค่าเสียหายซ้อนค่าเสียหายข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ ดอกเบี้ยซึ่งตัวแทนต้องเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 811 นั้น กฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าเป็นอัตราร้อยละเท่าใดซึ่งโจทก์มีสิทธิได้เพียงในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ไม่ถึงร้อยละ 15 ต่อปีเมื่อสัญญากำหนดให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งศาลชอบที่จะกำหนดให้โจทก์ใช้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี อันเป็นอัตราที่เหมาะสมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยสูตร 16-20-0 ของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับมอบปุ๋ยไปจากโจทก์และได้จำหน่ายปุ๋ยให้เกษตรกรหลายรายและชำระเงินล่วงหน้าตันละ 215 บาท หรือร้อยละ 5 ให้โจทก์ ส่วนเงินที่ค้างชำระเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,859,049.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 7,524,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาตัวแทน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆค่าปุ๋ยเพิ่มตันละ 100 บาท เป็นค่าปรับโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน7,524,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน7,524,000 บาท นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน3,335,049.01 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในข้อที่ว่าตามข้อความในสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยให้แก่โจทก์อันจะทำให้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดด้วยหรือไม่นั้นตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.5 ระบุชื่อสัญญาว่า “สัญญาตัวแทนจำหน่ายปุ๋ย” เรียกโจทก์ว่าตัวการ เรียกจำเลยที่ 1 ว่าตัวแทนข้อความในสัญญาข้อ 14 ในความว่า “ตัวแทนสัญญาว่าจะจำหน่ายปุ๋ยให้แก่เกษตรกรในนามของตนเองในราคาและเงื่อนไข ดังนี้” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 833บัญญัติว่า “อันว่าต้วแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางการค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ” เช่นนี้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่าง ฉะนั้นสำหรับราคาปุ๋ยจึงต้องปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 838 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญา ว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น” ซึ่งในกรณีนี้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 15 กำหนดว่า “ตัวแทนสัญญาว่าจะส่งเงินค่าปุ๋ยให้แก่ตัวการ ดังนี้ 15.1 ขายเงินสดให้ส่งทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือนไม่เว้นวันหยุดราชการถ้าตรงกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดตามประเพณีนิยม ให้ส่งวันรุ่งขึ้นหลังจากวันหยุดได้ 15.2 ขายเงินเชื่อ ให้ส่งเงินชำระล่วงหน้าทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน ส่วนเงินค้างชำระให้ส่งให้เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาของแต่ละสัญญา ไม่เว้นวันหยุดราชการหรือหยุดตามประเพณี” จึงเป็นกรณีที่มีข้อกำหนดในสัญญาเช่า ตัวแทนค้าต่างจะต้องรับผิดในหนี้หรือราคาปุ๋ยต่อตัวการด้วย หากผู้ซื้อคือเกษตรกรไม่ชำระตามบทบัญญัติมาตรา838 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะได้รับชำระหนี้ค่าปุ๋ยจากผู้ซื้อคือเกษตรกรแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยที่ค้างแก่โจทก์ หาใช่จะต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่ได้รับเงินค่าปุ๋ยมาแล้วดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2มิได้ค้ำประกันการชำระเงินค่าปุ๋ย แต่ได้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยแก่โจทก์นั้น เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินค่าปุ๋ยต่อโจทก์ตามสัญญาข้อ 15 แต่จำเลยที่ 1มิได้ชำระเงินแก่โจทก์ ซึ่งเป็นการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะหนี้ระงับแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 นั้นมาตรา 327 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ได้เวนคืนแล้วไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า มีคนนำเอาสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.99 ถึง จ.101 ไปจากการครอบครองของโจทก์โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมแล้วเอาสัญญาค้ำประกันปลอมไว้แทนและจำเลยที่ 1 เอาสัญญาค้ำประกันฉบับแท้จริงเอกสารหมาย จ.99หรือ จ.101 ไปมอบคืนแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงมิใช่เรื่องที่โจทก์เวนคืนหรือมอบหมายให้ผู้ใดเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งสิทธิแก่จำเลย 2 ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 327 วรรคสาม ยิ่งกว่านี้บทกฎหมายมาตราดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เมื่อปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์แล้วว่า จำเลยที่ 1ก็ดี จำเลยที่ 2 ก็ดี ไม่เคยชำระหนี้ ก็ย่อมหักล้างข้อสันนิษฐานได้ คดีฟังไม่ได้ว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ระงับแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าปุ๋ยที่ยังค้างอยู่จำนวน 7,524,000 บาท แก่โจทก์
สำหรับประเด็นในเรื่องดอกเบี้ยนั้น ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5ข้อ 15 วรรคสาม กำหนดว่า “ในกรณีตัวแทนผิดสัญญาข้อ 15.2 ไม่ส่งเงินค้างชำระภายในกำหนด ตัวแทนยินยอมให้ตัวการคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาท บวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันชำระเงินเสร็จสิ้น” ซึ่งการคิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาทนี้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าเป็นเพราะราคาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ขายนั้นเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดจึงต้องคิดเท่าราคาทุนคือคิดเพิ่มอีกตันละ 100 บาท มิใช่เบี้ยปรับก็ตามแต่การกำหนดในสัญญาเช่นนี้ย่อมเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และนอกจากให้คิดราคาปุ๋ยอีกตันละ 100 บาท แล้ว สัญญาข้อ 15 วรรคสาม ยังกำหนดต่อไปว่า”บวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 15 ต่อปี” ข้อความตอนนี้ ก็เป็นการกำหนดเบี้ยปรับอีกด้วย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยของเบี้ยปรับ หรือค่าเสียหายซ้อนค่าเสียหายดังที่จำเลยที่ 2กล่าวอ้าง ข้อสัญญาดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
ส่วนจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อสัญญานี้เป็นการกำหนดเบี้ยปรับแต่สูงเกินส่วน จึงได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ควรจะได้รับในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามที่กำหนดในสัญญาเอกสารหมาย จ.5 โดยอ้างว่าราคาปุ๋ยที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ขายนี้เป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจึงกำหนดราคาให้ชำระเพิ่มอีกตันละ 100 บาทเท่าราคาทุน จำเลยที่ 1ไม่ชำระจึงเป็นการเอาเงินของตัวการไปใช้ต้องชำระดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 811 มิใช่เบี้ยปรับศาลฎีกาเห็นว่า ดอกเบี้ยตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้าง กฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่าเป็นอัตราร้อยละเท่าใด ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้เพียงในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ไม่ถึงร้อยละ15 ต่อปี เมื่อสัญญาเอกสารหมาย จ.5 กำหนดให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งนั่นเอง และเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์แล้วเห็นว่า เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นี้สูงเกินส่วน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจึงเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share