คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นพิจารณาร้องขอกันส่วนคดีนี้ ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้เข้าเบิกความในฐานะพยานของผู้ร้องทั้งสี่และเบิกความยืนยันว่าผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้เบิกความเป็นพยานไว้ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ตามคำให้การในสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์อีกสำนวนหนึ่งซึ่งโจทก์เป็นคู่ความด้วย ทั้งผู้ร้องทั้งสี่ได้ระบุอ้างสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นพยานของผู้ร้องทั้งสี่ เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เบิกความเป็นข้อเท็จจริงเดียวกับที่ได้เบิกความไว้ในคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องนำสืบ การนำสืบพยานของผู้ร้องทั้งสี่จึงเป็นไปโดยชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะหยิบยกคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1ร้องขัดทรัพย์มาวินิจฉัยในคดีร้องขอกันส่วน คดีนี้ได้ หาใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า ย. ได้ปลอมหนังสือสละมรดกนั้น ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้ร้องทั้งสี่และฝ่ายโจทก์แล้วเชื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสี่ที่นำสืบมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่ว่าผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องขอกันส่วนในที่ดินพิพาทหรือไม่ อันเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้โดยตรง หาใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกหรือฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ซึ่งมีประเด็นพิพาทคนละอย่างต่างกันมารับฟังในคดีร้องขอกันส่วนคดีนี้อันจะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ย. ได้ปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และว.มารดาผู้ร้องที่3แล้วย. ได้นำไปขอรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และ ว.มารดาผู้ร้องที่ 3 มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ไปจำนองแก่โจทก์ ดังนั้นการจำนองไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ แม้โจทก์จะได้รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ไม่อาจยันผู้ร้องทั้งสี่ได้ ผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท โจทก์เป็นเจ้าหนี้ซึ่งรับจำนองที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่โดยมิชอบ โจทก์จึงมิใช่บุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาทอันจะมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ผู้ร้องทั้งสี่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง เรียกเงินกู้ยืมค้ำประกันและบังคับจำนอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน135,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินจำนวน 25,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ โจทก์จึงนำยึดที่ดินจำนองพิพาทของจำเลยที่ 1 ตามโฉนดตราจองเลขที่ 2031 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้
ผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องทั้งสองสำนวนใจความเดียวกันว่า เดิมที่พิพาทเป็นของนายแพ กิ่งเกล้า กับนางคำกิ่งเกล้า บิดามารดาของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นายยากิ่งเกล้า นางจิ๋ว กิ่งเกล้าหรือเรืองอยู่ นายแขก กิ่งเกล้าและนางยวน วงศ์สวรรค์หรือวงษ์สวรรค์ มารดาผู้ร้องที่ 3 ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว นายแพกับนางคำได้ให้บุตรหลานคือ ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 นายยา นางยวน บุตรของผู้ร้องที่ 2 และผู้ร้องที่ 3 ปลูกบ้านบนที่ดินพิพาทคนละหลังรวม 6 หลัง มาเป็นเวลากว่า10 ปีแล้ว เมื่อนายแพกับนางคำถึงแก่กรรมจึงตกแก่ทายาทคือบุตรทั้ง 7 คน แต่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2526 นายยาได้ไปขอรับมรดกที่ดินพิพาทและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 โดยร่วมกันปลอมแปลงหนังสือสละไม่รับมรดกของผู้ร้องที่ 1ที่ 2 และที่ 4 นางจิ๋วนายแขก และนางยวนแล้วจำเลยที่ 1นำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่โจทก์ ซึ่งนายยาไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกทอดแก่ผู้ร้องทั้งสี่และทายาทคนอื่นไปยกให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนของผู้ร้องและทายาทคนอื่นไปจำนองไว้แก่โจทก์ ผู้ร้องที่ 1 เคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท แต่คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจำเลยที่ 1 มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วยผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ขอให้กันเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทจำนวน 4 ใน 7 ส่วนให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่
โจทก์คัดค้านว่า นายแพกับนางคำมิใช่สามีภริยากันและยังไม่ถึงแก่กรรม ผู้ร้องทั้งสี่มิใช่เป็นบุตรหรือหลานของนายแพกับนางคำนายยาและจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกันปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 นางจิ๋ว นายแขกและนางยวนหากแต่บุคคลดังกล่าวได้ทำหนังสือสละมรดกไว้จริง และในคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพียงแต่วินิจฉัยว่าผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ ที่ผู้ร้องที่ 1อ้างว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้ร้องและบิดาจำเลยที่ 1 เป็นความเท็จ คดีผู้ร้องทั้งสี่ขาดอายุความมรดก โจทก์เป็นบุคคลภายนอกรับจำนองไว้โดยสุจริต ไม่ทราบเรื่องการปลอมแปลง ทั้งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างผู้ร้องทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ โจทก์เสียค่าตอบแทนโดยมอบเงินให้ผู้จำนองกู้ยืมไป และจดทะเบียนโดยสุจริตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ร้องทั้งสี่ขอกันส่วนก่อนที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้กันเงิน 4 ใน 7 ส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งสี่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายแพกับนางคำ กิ่งเกล้าซึ่งเป็นสามีภริยากันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับนายแพกับนางคำมีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายยา นางจิ๋วผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 นายแขก นางยวน และผู้ร้องที่ 4 ต่อมานายแพกับนางคำถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดไปยังบุตรของนายแพกับนางคำ เมื่อนางยวนถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทในส่วนของนางยวนเป็นมรดกตกทอดไปยังผู้ร้องที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรและเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2526 นายยาได้ไปขอรับมรดกที่ดินพิพาทโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและจำเลยที่ 1 ได้นำไปจำนองแก่โจทก์ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ฟ้องและบังคับคดีชั้นบังคับคดีผู้ร้องที่ 1 ได้ร้องขัดทรัพย์ที่ดินพิพาทคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจำเลยที่ 1มีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ผู้ร้องทั้งสี่จึงร้องกันส่วนเป็นคดีนี้
มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ในข้อกฎหมายประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์มาวินิจฉัยนั้นชอบหรือไม่ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงที่ว่านายยาได้ปลอมหนังสือสละมรดกตามเอกสารหมาย ร.5 ถึง ร.12 เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่าในชั้นพิจารณาคดีนี้ ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ได้เข้าเบิกความในฐานะพยานของผู้ร้องทั้งสี่และเบิกความยืนยันด้วยว่า ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้เบิกความเป็นพยานไว้ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ตามคำให้การในสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นคู่ความด้วย ทั้งผู้ร้องทั้งสี่ได้ระบุอ้างสำนวนคดีร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นพยานของผู้ร้องทั้งสี่เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เบิกความเป็นข้อเท็จจริงเดียวกับที่ได้เบิกความไว้ในคดีร้องขัดทรัพย์ดังกล่าวซึ่งเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องนำสืบ การนำสืบพยานของผู้ร้องทั้งสี่จึงเป็นไปโดยชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะหยิบยกคำเบิกความของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1ร้องขัดทรัพย์มาวินิจฉัยในคดีนี้ได้ หาใช่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบแต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่านายยาได้ปลอมหนังสือสละมรดกตามเอกสารหมาย ร.5 ถึง ร.12นั้น ก็เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของทั้งฝ่ายผู้ร้องทั้งสี่และฝ่ายโจทก์แล้วเชื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสี่ที่นำสืบมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่ว่าผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องขอกันส่วนในที่ดินพิพาทหรือไม่อันเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้โดยตรง หาใช่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกหรือฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทคนละอย่างต่างกันมารับฟังในคดีนี้ อันจะเป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการต่อมาว่า ผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องกันส่วนหรือไม่ ผู้ร้องที่ 1 เบิกความว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาอย่างไร พี่น้องคนอื่นก็ไม่มีใครรู้เรื่อง ผู้ร้องที่ 2 เบิกความว่าที่ดินพิพาทยังไม่มีการแบ่งปันผู้ร้องที่ 3 เบิกความว่า นางยวนมารดา ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้เรียนหนังสือ เขียนหนังสือไม่ได้ ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือแทนการลงชื่อตามสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย ร.6 ผู้ร้องที่ 4 เบิกความว่า ที่ดินพิพาทนายแพกับนางคำไม่เคยยกให้ผู้ใด เห็นว่า แม้ผู้ร้องทั้งสี่มิได้เบิกความให้ชัดเจนว่านายยาปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางยวนมารดาผู้ร้องที่ 3แต่ผู้ร้องทั้งสี่ต่างเบิกความรับรองว่า ผู้ร้องทั้งสี่เคยเบิกความเป็นพยานไว้ในคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ ซึ่งผู้ร้องทั้งสี่ก็ได้ระบุอ้างสำนวนคดีดังกล่าวเป็นพยานไว้ด้วยแล้ว และได้ความจากคำเบิกความผู้ร้องทั้งสี่ในคดีดังกล่าวยืนยันว่า นายยาได้ปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางยวนมารดาผู้ร้องที่ 3 เฉพาะอย่างยิ่งหนังสือสละมรดกของนางยวนตามเอกสารหมาย ร.10 กลับมีลายมือเขียนชื่อนางยวน กิ่งเกล้าหาใช่เป็นลายพิมพ์นิ้วมือดังที่ผู้ร้องที่ 3 เบิกความยืนยันดังกล่าวไม่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความชั้นร้องขัดทรัพย์ในคดีดังกล่าวก็มิได้ถามค้านผู้ร้องทั้งสี่ให้เห็นเป็นประการอื่นทั้งนายศิริชัย ดำรงชัยเสนพยานโจทก์เบิกความว่า การรับจำนองที่ดินจะดูจากชื่อเจ้าของที่ดินในโฉนดที่ดิน และนายชนะ ชโนเมธาภรณ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาพิชัย ในขณะนั้นและเป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีที่ผู้ร้องที่ 1 ร้องขัดทรัพย์ก็เบิกความว่าขณะไปตรวจสอบที่ดินพิพาทไม่พบเจ้าของที่ดินข้างเคียงจึงไม่มีการสอบถามไม่ทราบว่าจะมีการฉ้อฉลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อพิรุธสงสัยจากพยานผู้ร้องทั้งสี่เช่นนี้พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสี่จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า นายยาได้ปลอมหนังสือสละมรดกของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางยวนมารดาของผู้ร้องที่ 3 แล้วนายยาได้นำไปขอรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และนางยวนมารดาผู้ร้องที่ 3มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ไปจำนองแก่โจทก์ ดังนั้นการจำนองไม่มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่ แม้โจทก์จะได้รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วก็ไม่อาจยันต่อผู้ร้องทั้งสี่ได้ ผู้ร้องทั้งสี่มีสิทธิร้องกันส่วนเงินได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายที่ว่า คดีของผู้ร้องทั้งสี่ขาดอายุมรดกหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสี่ยื่นคำร้องกันส่วนเมื่อล่วงพ้นเวลา 1 ปีนับแต่ผู้ร้องทั้งสี่ได้ทราบถึงการที่อ้างว่ามีการโอนมรดกมิชอบแล้วคดีเป็นอันขาดอายุความ เห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ซึ่งรับจำนองที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องทั้งสี่โดยมิชอบ โจทก์จึงมิใช่บุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท อันจะมีสิทธิยกอายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้ผู้ร้องทั้งสี่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755วรรคหนึ่ง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share