คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การล้มละลายของจำเลยที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 62เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่จำเลยที่ 3 หรือซึ่งจำเลยที่ 3 จะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อจำเลยที่ 3ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จึงตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์ซึ่งมีสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทที่มีต่อจำเลยที่ 3จะดำเนินการได้ก็แต่โดยวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 122 และหากโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้ โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 122 ทั้งโจทก์ก็มิใช่เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายด้วย การที่โจทก์กลับนำสิทธิตามสัญญามาฟ้องจำเลยที่ 3 หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายและยังไม่พ้นภาวะจากการล้มละลายโดยจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองในขณะนั้น ประกอบกับที่ดินพิพาทได้โอนไปยังจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้วและหากที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทให้กลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อไปตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทที่ยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาของศาลแพ่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2506 และมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2522 ส่วนจำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่ปี 2517 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2511จำเลยที่ 1 โดยส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 3ได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินแก่โจทก์ โดยการจัดสรรที่ดินที่ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ หมายเลขโฉนดเดิมเลขที่ 1575 ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 30041เนื้อที่ 1 งาน 18 ตารางวา โจทก์ผ่อนชำระเงินจนถึงวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2516 เป็นเงินทั้งสิ้น 22,600 บาท จึงหยุดผ่อนชำระเพราะผลแห่งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องคดีล้มละลายและที่ดินถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดและอายัดไว้ โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวไม่ทันภายในกำหนด ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2514 ในระหว่างการล้มละลาย จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 30041 ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่มิได้ถูกยึดหรืออายัดไว้ในขณะนั้นไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3เป็นบุคคลล้มละลาย การทำนิติกรรมดังกล่าวต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินเลขที่ 30041 แก่โจทก์โดยรับชำระราคาที่เหลือ 24,600 บาท และให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอน หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องโจทก์จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย การเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ตามฟ้องเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย โจทก์มิได้ขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 เด็ดขาดโจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้ โจทก์ไม่ฟ้องภายใน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ขอบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 โอนที่ดินซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ไม่ได้และการที่โจทก์จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชำระค่าที่ดินโจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายประสานเบญจตานนท์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเทพารักษ์พัฒนาการ จำกัด และนายบุญชัย พัฒนปิยะทรัพย์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และนายสมนึก ชัยวรานุรักษ์ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกนายประสานว่า จำเลยที่ 4 บริษัทเทพารักษ์พัฒนาการ จำกัดว่าจำเลยที่ 5 นายบุญชัย ว่า จำเลยที่ 6 และนายสมนึก ว่าจำเลยที่ 7
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องโจทก์จากบุคคลภายนอกโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องจากจำเลยที่ 5โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 6 ไม่อยู่ในฐานะโต้แย้งสิทธิกับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมาจากจำเลยที่ 6 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าศาลล่างทั้งสองรับฟังมาซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30มกราคม 2506 จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและวันที่ 10 ตุลาคม 2522 ศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายวันที่ 17 กันยายน 2511 โจทก์ได้ทำหนังสือแบ่งซื้อขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเงินผ่อน ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ แปลงพิพาทหมายเลขที่ 57 เนื้อที่ 100 ตารางวาราคา 40,000 บาท กับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนตามเอกสารหมาย จ.1 ครั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2514 จำเลยที่ 1ได้โอนขายที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และขณะโอนขายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้ยึดหรืออายัดที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ผ่อนชำระค่าที่ดินไปบางส่วนแล้ว ต้องงดชำระเนื่องจากปรากฏว่า จำเลยที่ 3ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อปี 2517 จนถึงวันที่26 พฤษภาคม 2530 จึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือสัญญาแบ่งซื้อขายกรรมสิทธิ์ที่ดินเงินผ่อนตามเอกสารหมายจ.1 มีผลผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น และการล้มละลายของจำเลยที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 62 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งตกได้แก่จำเลยที่ 3 หรือซึ่งจำเลยที่ 3 จะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 จึงตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ซึ่งมีสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทที่มีต่อจำเลยที่ 3 จะดำเนินการได้ก็แต่โดยวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 และหากโจทก์ได้รับความเสียหายโดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิใช่เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 3 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายด้วยดังนั้น การที่โจทก์กลับนำสิทธิตามสัญญามาฟ้องจำเลยที่ 3 หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย และยังไม่พ้นภาวะจากการล้มละลาย โดยจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเองในขณะนั้น ประกอบกับที่ดินแปลงพิพาทได้โอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้วและหากที่ดินแปลงพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงพิพาทให้กลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินแปลงพิพาทที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้โอนขายที่ดินแปลงพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลายได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share