แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกันลักน้ำมันของโจทก์ร่วมจริง แต่เมื่อยังฟังไม่ได้แน่นอนว่าจำนวนเท่าใด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าของได้ ชอบที่โจทก์ร่วมจะไปว่ากล่าวทางแพ่งต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา334, 335, 357, 83 กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์3,350,000 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา บริษัทสหกลเอนยิเนียร์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(11) วรรคสอง(ที่ถูกวรรคสาม) ประกอบกับมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 6 ปี กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาน้ำมันจำนวน 3,350,000บาท แก่เจ้าของ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหาและให้ยกฟ้องข้อหารับของโจรสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย
โจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้จำคุก2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าคดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบไม่ได้ความชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ลักน้ำมันโจทก์ร่วมไปเป็นจำนวนเท่าใดจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องคืนหรือชดใช้ราคาน้ำมันแก่โจทก์ร่วมนั้น พิเคราะห์แล้วโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าน้ำมันของโจทก์ร่วมหายไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุจำนวนประมาณ 500,000 ลิตร โดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมคำนวณจากผลงานและชั่วโมงการทำงานของรถและเครื่องจักรกลเป็นสำคัญซึ่งเห็นได้ว่ายังไม่เป็นการแน่นอน นอกจากนี้ ประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองปากคือนายอรุณและนายรัด ต่างเบิกความยืนยันเพียงว่าพยานทั้งสองได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลักน้ำมันของโจทก์ร่วมไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุประมาณ 20 ครั้งแต่ละครั้งมีการลักน้ำมันประมาณ 4,000 ลิตร ดังนี้ เห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้แน่นอนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ลักน้ำมันของโจทก์ร่วมไปจำนวนเท่าใด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าของได้ ชอบที่โจทก์ร่วมจะไปว่ากล่าวทางแพ่งแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไป ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์3,350,000 บาท แก่เจ้าของเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2