แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า อาคารต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ก่อสร้างและส่งมอบให้โจทก์เสร็จแล้วเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายภายใน 12 เดือนนับแต่วันที่โจทก์รับมอบงาน โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เป็นที่เรียบร้อย โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในอาคารได้โดยสมบูรณ์ โจทก์จึงได้จ้าง ณ. ทำการซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างที่โจทก์ได้จ้าง ณ. ทำการซ่อมแซมฟ้องของโจทก์มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อความชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 เพราะโจทก์ฟ้องบังคับตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1ต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาต่อกันอยู่อีก เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ่ายค่าจ้างที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ณ. ไป จำเลยที่ 1จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาได้การฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ต่อโจทก์ ข้อ 2ระบุว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่โจทก์ได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้า เป็นการที่จำเลยที่ 3 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในกรณีที่จะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันแล้ว ส่วนข้อความตอนท้ายของสัญญาข้อ 2 ที่ระบุว่าโดยเพียงโจทก์ติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบโดยไม่ชักช้านั้นมิใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผลเพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ 2 เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 วรรคสอง ย่อมต้องร่วมรับผิดด้วยตามสัญญาค้ำประกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2520 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1ทำการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าเป็นค่าจ้าง 8,250,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำนวนเงิน725,000 บาท ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่จ้างภายใน1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับแก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่โจทก์กำหนดโดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของค่าแรงหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากโจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ผิดนัดไม่แก้ไขซ่อมแซมภายใน 7 วันโจทก์มีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าและส่งมอบงานให้โจทก์เมื่อวันที่31 กรกฎาคม 2521 ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2521อาคารของโรงพยาบาลที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการก่อสร้างดังกล่าวเกิดรอยแตกร้าวชำรุด โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขซ่อมแซมแล้วหลายครั้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จัดการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย โจทก์ได้จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดณัฐติรัตน์ก่อสร้างมาซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์คิดเป็นเงิน 357,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 357,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ทำการก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิชาการและครบถ้วนตามสัญญาโจทก์รับมอบงานไว้เรียบร้อยโดยไม่ได้ทักท้วง ไม่มีความชำรุดบกพร่องเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2521 โจทก์ออกหนังสือรับรองผลงานว่าจำเลยที่ 1 ดำเนินงานตามที่รับเหมาจนแล้วเสร็จถูกต้องตามสัญญาและกำหนดระยะเวลาในสัญญาทุกประการ หากศาลฟังว่ามีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นจนโจทก์ต้องจ้างบุคคลอื่นมาซ่อมแซม ก็เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในปี 2527 โดยโจทก์จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดณัฐติรัตน์ก่อสร้างทำการซ่อมแซมเมื่อวันที่30 สิงหาคม 2527 จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเกินกว่า5 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบงาน ทั้งโจทก์ไม่เคยแจ้งและกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ไปทำการซ่อมแซม กลับจ้างให้ผู้อื่นไปซ่อมแซมเพื่อปกปิดความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์เองหากฟังว่าเกิดความชำรุดบกพร่องเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2521ตามฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2531 เป็นการฟ้องร้องเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ปรากฏความชำรุดบกพร่อง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะโจทก์มิได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการชำรุดบกพร่องและให้จัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมภายในกำหนดตามสัญญาแต่โจทก์กลับเป็นฝ่ายว่าจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขแทนโจทก์จึงเห็นเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายคดีนี้เกิดกว่ากำหนด 1 ปี นับแต่วันที่การชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นคดีโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ได้ผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521โดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ จำเลยที่ 3 จึงย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 357,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชอำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 11 มีข้อความว่า”เมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อย และภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างจะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดีก็ตาม ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่รีบจัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำการแทนได้ โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าจ้างและค่าสิ่งของตามจำนวนที่ผู้ว่าจ้างต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง”คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า อาคารต่าง ๆ ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าที่จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ก่อสร้างและส่งมอบให้โจทก์เสร็จแล้วเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายภายใน 12 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รับมอบงานโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องให้เป็นที่เรียบร้อย โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในอาคารได้โดยสมบูรณ์ โจทก์จึงได้จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดณัฐติรัตน์ก่อสร้างทำการซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์คิดเป็นเงิน 357,000 บาท จึงฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างที่โจทก์ได้ห้างหุ้นส่วนจำกัดณัฐติรัตน์ก่อสร้างทำการซ่อมแซม ดังนี้เห็นว่าฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 บทบัญญัติมาตรา 601นั้นต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 600 เมื่อมิได้มีการกำหนดไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือเมื่อได้ส่งมอบงานกันแล้วแต่ปรากฏว่างานที่จ้างมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นในภายหลังจึงกำหนดให้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นแต่กรณีของโจทก์นี้มีข้อสัญญาตกลงกันไว้ดังกล่าวแล้ว ซึ่งโจทก์จำเลยต้องผูกพันปฏิบัติตามสัญญาต่อกันอยู่อีก กล่าวคือหากมีเหตุชำรุดบกพร่องเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้าง จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างได้รับแจ้งแล้วไม่รีบจัดการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้เป็นที่เรียบร้อยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งโจทก์ผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำแทนและเรียกเงินค่าจ้างที่ต้องเสียไปเพราะจ้างผู้อื่นทำแทนนี้ได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันเช่นนี้แล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญานั้น จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาได้การฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไขอาคารที่ชำรุดบกพร่องหลายครั้งโดยแจ้งครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2521 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2531 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะโจทก์ผ่อนเวลาการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 ระบุว่า”ข้าพเจ้ายอมรับรู้และยินยอมด้วยในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขได้ยินยอมให้ผัดหรือผ่อนเวลา หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลน้ำมิตรก่อสร้าง โดยเพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น”ดังนี้ เป็นการที่จำเลยที่ 3 ยินยอมด้วยล่วงหน้าในการที่หากจะมีการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1ฉะนั้นจึงถือว่าการที่โจทก์ผ่อนเวลาตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1นั้นได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันแล้ว ส่วนข้อความในตอนท้ายของสัญญาข้อ 2 ที่ระบุว่า “โดยเพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขติดต่อแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยไม่ชักช้าเท่านั้น” และปรากฏว่าโจทก์มิได้ติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบถึงการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องนี้ก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวแล้วมิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อ 2 นี้ เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนผันเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้นจำเลยที่ 3 จึงไม่หลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามสัญญาค้ำประกัน
พิพากษายืน