คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กำหนดระยะเวลาฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง แม้จะได้กำหนดว่าต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองก็ไม่ถือว่าเป็นอายุความฟ้องร้อง ดังนั้นแม้จะได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานบุกรุก ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไม่ใช่อายุความ สิทธิที่โจทก์จะฟ้องดำเนินคดีแพ่งหาได้สะดุดหยุดลงไม่โจทก์ต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองที่พิพาท

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกนายชูเกียรติ แก้วบุตร เป็นจำเลยที่ 1สิบตำรวจโทโกศล รัตนพงศ์ เป็นจำเลยที่ 2 และนายก๋อง นิพาพันธ์เป็นจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 232 จำนวนเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 3 งาน78 ตารางวาตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2509 ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม2530 โจทก์มอบอำนาจให้นางสุชาดาภรรยาโจทก์ไปยื่นคำร้องขอรังวัดสอบเขตที่ดินและคำขอเปลี่ยนเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก. และนางสุชาดาได้นำเจ้าพนักงานไปรังวัดสอบเขตที่ดินในวันที่ 4 กรกฎาคม 2530และได้พบว่า จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์บางส่วนโดยจำเลยที่ 1 ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งานจำเลยที่ 2 ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 60 ตารางวา จำเลยที่ 3ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 80 ตารางวา โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ยอมออกในวันที่ 3 ตุลาคม 2530 โจทก์ได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสาม พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยทั้งสามแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหาย ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3,500 บาทจำเลยที่ 2 ชดใช้เดือนละ 2,300 บาท และจำเลยที่ 3 ชดใช้เดือนละ2,400 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กับภรรยาครอบครองที่พิพาทมาโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานกว่า 10 ปีจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์ ทั้งโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองที่พิพาทมาแต่เดือนตุลาคม 2529 โจทก์มิได้ดำเนินคดีภายใน 1 ปี นับแต่ทราบ จึงหมดสิทธิเรียกเอาที่ดินคืน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทรงสิทธิครอบครองโดยชอบ โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่ทราบถึงการที่จำเลยที่ 2 แย่งการครอบครองที่ดิน จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาที่ดินคืน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่เดือนธันวาคม 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โจทก์รู้ถึงการที่จำเลยที่ 3 แย่งการครอบครองที่พิพาท จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาที่พิพาทคืนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของที่พิพาทตาม น.ส.3 เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาปี 2530 โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ไปรังวัดสอบเขตที่พิพาทของโจทก์ และเห็นจำเลยทั้งสามแต่ละคนครอบครองที่พิพาทของโจทก์เป็นสัดส่วน จำเลยทั้งสามแต่ละคนคัดค้านว่าที่พิพาทส่วนที่จำเลยครอบครองเป็นของจำเลย โจทก์ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามฐานบุกรุก ซึ่งพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสามแย่งการครอบครองที่พิพาทของโจทก์เกินกว่า 1 ปีแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง เป็นอายุความหรือไม่ และการที่ได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสามแล้ว แต่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาดจะทำให้อายุความซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลงตามมาตรา 79 แห่งกฎหมายลักษณะอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสอง หรือไม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง แม้จะได้กำหนดว่าต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองก็ไม่ถือว่าเป็นอายุความฟ้องร้อง ดังนั้นแม้จะได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสาม ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไม่ใช่อายุความ สิทธิที่โจทก์จะฟ้องคดีแพ่งหาได้สะดุดหยุดลงไม่โจทก์ต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตามบทบัญญัติดังกล่าวภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองที่พิพาท แต่โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีแล้ว จึงหมดสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share