แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้พลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 17 แต่ตามหนังสือที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ และย้ายโจทก์ออกจากพื้นที่รับผิดชอบทางราชการ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงพลตำรวจโท ป. และพลตำรวจโท ว. ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด และพลตำรวจโท ป. มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความคุ้มครองจำเลยที่ 1 แล้วรายงานให้พลตำรวจโท ป. ทราบด้วยเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 326, 328 และ 84
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 326, 328 ให้ประทับฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 คดีมีมูลเฉพาะฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 จำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงพลตำรวจโทประจิตต์ แสงสุบิน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 8 และมีหนังสือถึงพลตำรวจโทวุฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังพล กรมตำรวจ มีข้อความตามหนังสือเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 หรือไม่ เห็นว่าแม้พลตำรวจโทประจิตต์และพลตำรวจโทวุฒิชัยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาตามหนังสือเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพลตำรวจโทประจิตต์และพลตำรวจโทวุฒิชัย ซึ่งบุคคลทั้งสองต่างเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ และย้ายโจทก์ออกจากพื้นที่รับผิดชอบทางราชการ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือมีข้อความตามเอกหมาย จ.2 ถึงพลตำรวจโทประจิตต์และพลตำรวจโทวุฒิชัยขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า พลตำรวจโทประจิตต์มิได้มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาให้ความคุ้มครองจำเลยที่ 1 แล้วรายงานให้พลตำรวจโทประจิตต์ทราบด้วยเท่านั้น ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน