คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 123 ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยร่วมที่จะให้จำเลยดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไรก็ได้ หาได้มีบทบัญญัติใดที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยร่วมซึ่งถอนคำร้องที่ยื่นต่อจำเลยแล้วยื่นคำร้องใหม่เพื่อให้จำเลยดำเนินการตามมาตรา 123 อีกแต่อย่างใด เมื่อจำเลยร่วมถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 คำร้องฉบับดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับที่สองลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เพื่อให้จำเลยดำเนินการใหม่ จำเลยทำการสอบสวนและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ย่อมเป็นการดำเนินการภายในกำหนด 60 วัน ชอบด้วยมาตรา 124 วรรคหนึ่ง แล้วระยะเวลานับแต่วันที่ยื่นคำร้องฉบับแรก หาได้นับต่อเนื่องมารวมกับระยะเวลา 60 วันที่จำเลยต้องดำเนินการตามคำร้องฉบับที่สองไม่ คำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2544
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางนุสรายื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์จ่ายเงินสมทบจำนวน 233,814.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยของเงินสมทบ ดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,278 บาท ค่าชดเชย 502,780 บาทให้แก่จำเลยร่วม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีสำหรับค่าชดเชยและร้อยละ 7.5 ต่อปีสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม และพิพากษายกฟ้องแย้ง
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2542 จำเลยร่วมยื่นคำร้องแก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยดำเนินการสอบสวนแล้ว แต่จำเลยเห็นว่าจะมีคำสั่งไม่ทันภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง จำเลยจึงแนะนำให้จำเลยร่วมถอนคำร้องแล้วยื่นคำร้องใหม่ จำเลยร่วมจึงได้ถอนคำร้องและยื่นคำร้องใหม่ในวันที่ 15 สิงหาคม 2544 จำเลยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 เกินกว่า 60 วันนับแต่วันที่จำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับแรกวันที่ 26 มิถุนายน 2544 โดยจำเลยมิได้ขอขยายเวลาต่อผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้ดำเนินการในกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยร่วมอันเป็นกรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสิทธิที่จะได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยร่วมที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานดำเนินการต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ได้ แม้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่หาได้มีบทบัญญัติใดที่จำกัดห้ามมิให้จำเลยร่วมซึ่งถอนคำร้องที่ยื่นต่อจำเลยแล้วยื่นคำร้องใหม่เพื่อให้จำเลยดำเนินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 อีกแต่อย่างใด การที่จำเลยร่วมถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 คำร้องฉบับดังกล่าวย่อมสิ้นผลไป เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 เพื่อให้จำเลยดำเนินการใหม่ จำเลยทำการสอบสวนและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ย่อมเป็นการดำเนินการภายในกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ระยะเวลานับแต่วันที่ยื่นคำร้องฉบับแรกหาได้นับต่อเนื่องนำมารวมกับระยะเวลา 60 วันที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามคำร้องฉบับที่สองดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า ตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏคำร้องของจำเลยร่วมฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ก็ดี ไม่มีการออกหนังสือตามระเบียบปฏิบัติเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำต่อพนักงานตรวจแรงงานตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ก็ดี โจทก์ไม่เคยแสดงเจตนาใด ๆ ที่จะให้นำเอกสารหรือคำให้การใด ๆ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2544 มาใช้ต่อสู้คดีตามคำร้องฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2544 และจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก็ดี คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ล้วนแต่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2544 และจำเลยร่วมฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยของค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายแก่จำเลยร่วมเท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้จำเลยร่วม จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้องแย้ง เพราะเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยร่วมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งของจำเลยอยู่แล้ว กรณีเช่นนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และ 7.5 ต่อปี ของจำนวนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามคำสั่งของจำเลยที่ 29/2544 นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม และยกคำขออื่นตามฟ้องแย้งของจำเลยร่วม.

Share