แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาซื้อบ้านพร้อมที่ดินจัดสรรกับจำเลยที่ 1เป็นการเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ชื่อโครงการเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 ร่วมด้วย การที่ธนาคารให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้เงินร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ร่วมรับผิดตามระเบียบของธนาคารเท่านั้น ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงเข้ากันกับจำเลยที่ 1 เพื่อกระทำกิจการจัดสรรที่ดินด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากกิจการดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมหรือเข้าหุ้นกันลงทุนเพื่อประกอบกิจการจัดสรรที่ดินพร้อมทั้งปลูกสร้างอาคารไว้เพื่อขายด้วยประสงค์จะหากำไรแบ่งปันกันจากกิจการดังกล่าว โดยมีจำเลยที่ 1เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลตลอดจนดำเนินการทั้งหมดแทนจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินตามโครงการที่สองหน่วยที่ 101 จำนวน 1 หน่วย เนื้อที่ประมาณ 25 ตารางวาของจำเลยทั้งสองให้โจทก์ในราคา 380,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำนวน 30,000 บาท และในวันที่11 เมษายน 2531 อีกจำนวน 20,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน330,000 บาท โจทก์ตกลงแบ่งชำระให้จำเลยที่ 1 เป็น 3 งวด2 งวดแรก งวดละ 25,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 280,000 บาทจะชำระเมื่อจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารให้โจทก์ตามข้อตกลงจำเลยที่ 1 รับว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ในวันที่ 11 ตุลาคม 2531 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1ยอมคืนเงินส่วนที่โจทก์ชำระแล้ว พร้อมทั้งค่าปรับเป็นรายวันวันละ 300 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์จำเลยที่ 1มิได้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาครั้นต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2531 อันเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามสัญญาโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขอชำระค่าที่ดินพร้อมทั้งขอให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือนเศษ โจทก์ขอคิดเพียง 6 เดือนเป็นเงิน 1,875 บาท และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 300 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 194 วัน เป็นเงิน 58,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 110,075 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับแก่โจทก์เป็นรายวันวันละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องในกิจการงานของจำเลยที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 6169 ที่โจทก์อ้างว่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากจำเลยที่ 1 เดิมเป็นของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่9 เมษายน 2530 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายให้จำเลยที่ 1 จำนวน 1 ไร่ราคา 900,000 บาท ตกลงชำระราคาภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2531จำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์และไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ และร่วมกันชำระค่าปรับวันละ 100 บาท นับแต่วันที่11 ตุลาคม 2531 ถึงวันฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.11 โดยระบุในคำขอกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 3 ว่า วัตถุประสงค์ในการกู้ครั้งนี้คือ เพื่อทำธุรกิจบ้านจัดสรร จำนวน 14 หน่วย นั้นถือว่าจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ คดีนี้ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เป็นการเฉพาะตัวไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ชื่อโครงการเป็นชื่อของจำเลยที่ 1ไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 ร่วมด้วย และการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาถนนเพชรเกษม ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้ร่วมรับผิดตามระเบียบของธนาคารเท่านั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงกันกับจำเลยที่ 1 เพื่อกระทำกิจการจัดสรรที่ดินด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากกิจการดังกล่าว จำเลยที่ 2จึงไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012”
พิพากษายืน