คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาล ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนโบราณ และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณสาขาเภสัชกรรม เมื่อยาของกลางมีไว้เพื่อกิจการค้าของจำเลยและถูกเก็บซุกซ่อนอยู่ในสถานพยาบาล แม้มิได้นำออกแสดงโดยเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบ แต่จำเลยพร้อมที่จะนำมาขายให้แก่คนไข้หรือผู้มาขอซื้อได้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยา ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยถูกร้องเรียนจากราษฎรว่าสถานพยาบาลของจำเลยมีพฤติการณ์หลอกลวงคนไข้ว่าสามารถรักษาโรคสารพัดโดยใช้คนขับรถสองแถวรับจ้างชักจูงคนไข้ เจ้าหน้าที่เคยตักเตือนจำเลยแล้ว ก็ยังไม่ยอมงดการกระทำอันเป็นการท้าทายเจ้าหน้าที่โดยอาศัยโอกาสที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณสาขาเภสัชกรรม หากปล่อยให้จำเลยประกอบอาชีพต่อไปอาจกระทำความผิดได้อีก กรณีอยู่ในหลักเกณฑ์ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510มาตรา 4, 72, 122, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50สั่งห้ามจำเลยประกอบอาชีพตั้งสถานพยาบาลและวิชาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษ และขอนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5088/2535 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 72(4), 122, 126 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 50 ลงโทษจำคุก 1 ปี ห้ามจำเลยประกอบอาชีพผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเภสัชกรรม เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษส่วนคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่นับโทษต่อให้ ของกลางริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ายาของกลางเป็นของนายน้อย ใจมา ไม่ใช่ของจำเลย เห็นว่าจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 66 ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุนายถาวร พรรณกุล สามีของจำเลยใช้สถานที่ดังกล่าวจดทะเบียนการค้าเป็นสถานการค้ายาแผนโบราณชื่อจื้อกิมโอสถ จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลชื่อสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถระบุสถานที่ตั้งอยู่เลขที่ 66/1-2ท้องที่เดียวกัน ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาแผนโบราณ ใช้ชื่อประกอบธุรกิจว่า ร้านจื้อกิมโอสถ 2 ระบุอยู่เลขที่ 66/2 นอกจากนี้ตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ประกอบยารักษาโรคแผนโบราณที่จำเลยได้รับจากทางราชการโดยระบุสถานที่ประกอบกิจการอยู่ที่เลขที่ 66 ท้องที่เดียวกันอีก ดังนั้นสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นเลขที่66 และ 66/1-2 จำเลยได้เข้ามาเกี่ยวข้องและรับผิดชอบทั้งสิ้นแม้ว่านายน้อยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรม ได้ใช้สถานพยาบาลชื่อสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถ ตั้งอยู่เลขที่ 66/1-2 เป็นสถานที่ดำเนินการซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวกับสถานที่ที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลดังกล่าวแต่จำเลยมีคุณสมบัติพิเศษโดยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเภสัชกรรมแสดงว่าจำเลยมีความรู้ความสามารถในการผลิตยาแผนโบราณอีกด้วย นายน้อยพยานจำเลยเบิกความว่า พยานเป็นผู้ปรุงยาในห้องยาและรักษาคนไข้ด้วยตนเอง เพื่อจะให้เข้าใจว่านายน้อยเป็นเจ้าของยาของกลาง แต่ไม่ปรากฎว่านายน้อยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเภสัชกรรมเช่นเดียวกับจำเลยนายน้อยจึงไม่น่าจะมีความรู้ความสามารถผลิตหรือปรุงยาของกลางสถานที่เกิดเหตุอยู่ในอำนาจควบคุมดูแลของจำเลยซึ่งมีสถานพยาบาลโรงงานประกอบยารักษาโรคแผนโบราณและร้านค้ายา ไม่ว่ายาของกลางจะเก็บหรือซุกซ่อนอยู่ ณ ส่วนใดของสถานที่ดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์ชี้ชัดว่ายาของกลางอยู่ในครอบครองของจำเลย และมิใช่จำเลยมีไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกจากเพื่อกิจการค้าของจำเลยแม้จะไม่นำยาของกลางออกมาแสดงโดยเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปทราบ แต่เมื่อนายน้อยซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณในสาขาเวชกรรมให้การรักษาแก่คนไข้แล้ว จำเลยก็พร้อมที่นำยาของกลางมาขายให้คนไข้หรือผู้มาขอซื้อได้ โจทก์ไม่จำต้องมีพยานที่รู้เห็นจำเลยขายยาของกลางมานำสืบพฤติการณ์ที่จำเลยมียาของกลางจำนวนมากไว้ในครอบครองย่อมมีเจตนาเพื่อขายการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง
ปัญหาต่อมามีว่า สมควรใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยโดยห้ามการประกอบอาชีพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50 แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่าก่อนที่เจ้าพนักงานจะจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้โจทก์นำสืบให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุ 1 วันมีนางตุ่นแก้วนำนายคำ อินปิ๊ก ซึ่งป่วยมาจากจังหวัดลำปางไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา ขณะกำลังทำบัตรคนไข้มีคนขับรถสองแถวรับจ้างมาชักจูงให้ไปรับการรักษาที่สถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถของจำเลย จำเลยบอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคดีซ่านแล้วเรียกค่ายาและค่ารักษา 3,000 – 4,000 บาทนายตุ่นแก้วเห็นว่าแพงไปจึงปฏิเสธและกลับไปโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พร้อมกับแจ้งพฤติการณ์หลอกลวงให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทราบ และแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยในข้อหาประกอบโรคศิลปะผิดสาขาโดยไม่ได้รับอนุญาต และก่อนหน้านี้นางทองคำ วันทนา ราษฎรจากจังหวัดอุตรดิตถ์เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับ การรักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนดอกก็ประสบเหตุการณ์จากสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถ นางทองคำได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อปี 2526 กระทรวงสาธารณสุขได้รับคำร้องเรียนจากราษฎรอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรและนางบัวผัด ใจแก้ว ราษฎรจังหวัดพะเยาได้ร้องเรียนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 เล่าถึงพฤติการณ์ของสถานโบราณพยาบาลจื้อกิมโอสถที่มีลักษณะหลอกลวงคนไข้ว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัด โดยใช้คนขับรถสองแถวรับจ้างชักจูงคนไข้จากต่างจังหวัดตามสถานีรถไฟและสถานีขนส่งเป็นเครื่องมือชี้นำ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2535 เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกจำเลยมาตักเตือนเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามคำร้องเรียนสถานพยาบาลแห่งนี้มาแล้วจำเลยก็ไม่ยอมงดการกระทำอันมีลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานของรัฐและกฎหมายบ้านเมืองโดยมุ่งประโยชน์ตนและพวกพ้องแต่อย่างเดียว โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณสาขาเภสัชกรรมกระทำความผิดคดีนี้จากการประกอบอาชีพหรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหากปล่อยให้จำเลยยังคงประกอบอาชีพในลักษณะนี้ต่อไปอาจจะกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีกได้ และการที่จำเลยแสวงหาทรัพย์สินจากผู้เจ็บป่วยโดยอาจขายยาซึ่งมิได้ผ่านการตรวจสอบรับรองจากเจ้าพนักงานของรัฐ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนผู้มาขอรับบริการโดยรู้เท่าไม่ถึงการได้ กรณีอยู่ในหลักเกณฑ์นำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้แก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share