คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5079/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

นางพ.ได้นำเด็กหญิงพ.ผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 14 ปีเศษบุตรสาวไปทำงานที่ร้านขายอาหารของนางส. ต่อมาจำเลยได้พาเด็กหญิงพ.ออกจากร้านอาหารโดยไม่ปรากฏว่านางพ.และนางส.รู้เห็นแล้วนำไปกระทำชำเราที่บ้านพักของจำเลยโดยเด็กหญิงพ.ยินยอม ด้วยประสงค์จะเลี้ยงดูเด็กหญิง พ. เป็นภริยาและต่อมาเด็กหญิงพ. กับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กไปจากมารดาและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277,317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคหนึ่ง, 91เรียงกระทงลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ให้จำคุก 3 ปี และฐานกระทำชำเราเด็กหญิง ให้จำคุก 4 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกฐานพรากผู้เยาว์2 ปี และฐานกระทำชำเราเด็กหญิง 2 ปี 8 เดือน รวมโทษจำคุก 4 ปี 8เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยสองกระทงรวม 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากเด็กไปจากมารดาและผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่งหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาได้ความว่า นางพิมพ์พันธ์ ศรสิทธิ์หรือค้ำกลาง ได้นำเด็กหญิงพรสวรรค์ ค้ำกลางผู้เสียหายซึ่งมีอายุ14 ปีเศษ บุตรสาวไปทำงานที่ร้านขายอาหารของนางสุนันท์ อินทรหะวันเกิดเหตุจำเลยได้พาเด็กหญิงพรสวรรค์ผู้เสียหายออกจากร้านอาหารโดยไม่ปรากฏว่านางพิมพ์พันธ์และนางสุนันท์รู้เห็น แล้วพาไปกระทำชำเราที่บ้านพักของจำเลยโดยผู้เสียหายยินยอม ด้วยประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา และต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กไปจากมารดาและผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามบทกฎหมายดังกล่าวฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคหนึ่ง ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า หลังเกิดเหตุนายไพฑูรย์จอดพิมาย บิดาจำเลยได้ไปสู่ขอผู้เสียหายจากนางพิมพ์พันธ์มารดาผู้เสียหายและได้จัดพิธีแต่งงานให้ผู้เสียหายกับจำเลยอยู่กินด้วยกันแล้ว และในระหว่างพิจารณาคดีฝ่ายผู้เสียหายได้ขวนขวายดำเนินการยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาให้ผู้เสียหายทำการสมรสกับจำเลยได้ เมื่อคำนึงถึงสถานภาพและปัญหาครอบครัวของผู้เสียหายที่จะได้รับประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน หากรอการลงโทษจำคุกไว้เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปย่อมจะเป็นผลดียิ่งกว่าลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง สำหรับโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share