คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ราชการได้รับการให้ แม้ทางราชการมิได้ใช้ทำการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามความประสงค์ของผู้ให้ก็ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเกิดสิทธิที่จะบุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารหรือปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตและแม้อาคารที่ก่อสร้างจะถูกรื้อไปแล้วก็ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วกลายเป็นไม่ผิด การกระทำของบริษัทจำเลยที่ 2 ที่กระทำลงไปนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วยจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 ร่วมกันปลูกสร้างอาคาร 8 หลัง คือ อาคารเพิงเก็บของกั้นรั้วสังกะสีชั้นล่างขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 23 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 184 ตารางเมตรห้องแถวไม้ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 4 เมตร 2 หลัง คิดเป็นพื้นที่หลังละ60 ตารางเมตร ห้องแถวไม้ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 8 เมตร คิดเป็นพื้นที่120 ตารางเมตร ห้องแถวไม้ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 10 เมตร 2 หลังคิดเป็นพื้นที่หลังละ 150 ตารางเมตร ห้องแถวไม้ขนาดกว้าง 23 เมตรยาว 10 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 230 ตารางเมตร โรงจอดรถขนาดกว้าง29 เมตร ยาว 8 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 232 ตารางเมตร ลงบนถนนเจริญนครซึ่งเป็นทางสาธารณะและปลูกสร้างท่าจอดเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว4 เมตร คิดเป็นพื้นที่ 24 ตารางเมตร ลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเสียหายเสื่อมค่า หรือไร้ประโยชน์ ผู้อื่นไม่สามารถใช้ได้ตามปกติ และเป็นการเข้าไปยึดถือครอบครองก่นสร้างที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 360ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาที่เข้ายึดถือครอบครอง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ให้จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 4,000 บาทจำเลยทั้งสองรับข้อเท็จจริงเรื่องการก่อสร้างอาคารตามฟ้องเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 3,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000 บาทจำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่งโดยรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ส่วนจำเลยที่ 2 จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากถนนเจริญนครและแม่น้ำเจ้าพระยาในส่วนที่จำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปยึดถือครอบครอง

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา เดิมเป็นของนายน้อย อุดมจรรยา และนางจิ้มลิ้ม จิวาลักษณ์ ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2495 บุคคลทั้งสองจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ทางราชการเป็นสาธารณประโยชน์ (คือที่ดินตามกรอบสี่เหลี่ยมสีแดงในเอกสารหมาย จ.6) จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการร่วมกับนายธีระ ชัยชนะวงศ์เมื่อประมาณต้นปี 2533 โดยจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นกรรมการแทนนายระวีชัยชนะวงศ์ พี่ชายของจำเลยที่ 1 เอง ซึ่งถึงแก่กรรมลง มีการก่อสร้างอาคารตามฟ้องลงบนที่ดินพิพาทจริง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานคือนายวิวัฒน์นายช่างสำรวจเบิกความยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุมีผู้ร้องเรียนว่ามีผู้รุกล้ำที่สาธารณะซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานเขตธนบุรีเป็นที่โล่งเชื่อมกับถนนเจริญนครยาวจดแม่น้ำเจ้าพระยา พยานจึงตรวจสอบโฉนดที่ดินและออกไปตรวจสอบพื้นที่ปรากฏว่ามีการรุกล้ำที่สาธารณะดังกล่าวจริง ผู้บุกรุกมีหลายรายรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วย โดยจำเลยที่ 2รุกล้ำทำที่จอดรถ สร้างอาคารกั้นรั้ว โดยก่อสร้างเป็นแนวยาวตามถนนไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างอาคารริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาและบางส่วนของอาคารรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ส่วนผู้รุกล้ำรายอื่นส่วนใหญ่สร้างเป็นที่อยู่อาศัยเป็นร้านค้าขายวัสดุก่อสร้าง พยานได้ถ่ายรูปไว้ตามภาพถ่ายหมายจ.1 และทำแผนที่ที่มีการรุกล้ำไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมา สำนักงานเขตธนบุรีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รุกล้ำทุกรายรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำออกจากที่สาธารณะและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนตามเอกสารหมาย จ.3แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลารื้อถอนที่กำหนดไว้ 30 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่งจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามเป็นเหตุให้ผู้รุกล้ำรายอื่น ๆ ไม่ยอมรื้อถอนเช่นเดียวกันยังได้ความจากนางสาวประภัสสร แย้มชุติ หัวหน้างานรักษาที่สาธารณะพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความยืนยันว่า ได้ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 2บุกรุกที่ดินตามกรอบรูปสี่เหลี่ยมสีแดงในเอกสารหมาย จ.6 พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เป็นข้าราชการ กระทำการตามหน้าที่ น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็น จำเลยทั้งสองก็นำสืบเจือสมพยานโจทก์ทั้งสองว่า มีการสร้างอาคารตามฟ้องรุกล้ำที่ดินพิพาทและแม่น้ำเจ้าพระยาจริงแต่บ่ายเบี่ยงไปว่า นายธีระสั่งให้รื้อถอนออกไปในปี 2533 เพราะเกรงจะเสียชื่อเนื่องจากนายธีระเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการได้ก่อสร้างอาคารตามฟ้องรวม 8 หลัง ลงบนถนนเจริญนครซึ่งเป็นทางสาธารณะและสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตดังโจทก์ฟ้องที่จำเลยทั้งสองนำสืบโต้เถียงว่า นางจิ้มลิ้มได้นำที่ดินพิพาทมาให้จำเลยที่ 1เช่าเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2499 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.11 นั้นไม่สมเหตุผล เพราะหากเป็นความจริงเหตุใดจำเลยทั้งสองจึงไม่ยกขึ้นกล่าวอ้างต่อสู้ตั้งแต่ชั้นที่ถูกสำนักงานเขตธนบุรีออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร สิ่งก่อสร้างหรือมิฉะนั้นอย่างช้าก็น่าจะยกขึ้นต่อสู้ในชั้นพนักงานสอบสวน ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดที่จะต้องปกปิดข้อเท็จจริงนี้ไว้ แม้จะเป็นสิทธิของจำเลยที่จะให้การอย่างไรหรือไม่ก็ตาม ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีของสำนักงานเขตธนบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเขตนั้นไม่เป็นสาระแก่คดี เนื่องจากความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาแผ่นดินมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่จะต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายเสียก่อนพนักงานสอบสวนจึงจะสอบสวนดำเนินคดีได้ การกล่าวอ้างว่าทางราชการมิได้ใช้ที่ดินพิพาทก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามความประสงค์ที่มีผู้ยกให้ก็ไม่ได้ทำให้จำเลยทั้งสองเกิดสิทธิที่จะบุกรุกเข้าไปก่อสร้างอาคารหรือปลูกสร้างท่าจอดเรือลงในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตดังโจทก์ฟ้อง และแม้อาคารที่ก่อสร้างจะถูกรื้อไปแล้วก็ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นสำเร็จแล้วกลายเป็นไม่ผิดแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่กระทำลงไปนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวด้วยจำเลยทั้งสองต้องมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่โต้เถียงมาฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองมาโดยไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ด้วย นั้นไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษบทนี้มาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องโดยลงโทษไม่สูงกว่าเดิมได้ กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 อีกบทหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่โทษให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share