คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4984/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาตนั้นเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สิน และกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจึงจะอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ ในเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อนก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ฉะนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 จะทำสัญญาในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3และกรณีมิใช่โมฆียะกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ การที่จำเลยที่ 3 แม้จะเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ ดังนั้นแม้สัญญาจะไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์เท่านั้นส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมายจำเลยที่ 2 จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3172, 3173 ให้โจทก์เป็นเงิน 1,450,000 บาท ในวันทำสัญญาจำเลยทั้งสามได้รับเงินมัดจำจากโจทก์จำนวน 500,000 บาทส่วนที่เหลือ โจทก์จะชำระให้จำเลยทั้งสามในวันที่ 13 ตุลาคม 2531ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นวันโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนดตามสัญญา จำเลยทั้งสามยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาที่ดินที่ซื้อขายพร้อมกับคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ทั้งหมดด้วย ครั้นถึงวันนัดโจทก์และจำเลยทั้งสามไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172, 3173 แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเงินได้ในการโอนกรรมสิทธิ์ครั้งนี้เอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามรับเงินส่วนที่เหลือจำนวน950,000 บาท เพื่อเป็นการชำระหนี้จากโจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่สมบูรณ์ไม่อาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามได้ กล่าวคือในวันทำสัญญาจำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์โดยมีอายุ 17 ปี สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเป็นโมฆียะ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 3 ก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญามีอาการนอนไม่หลับคิดฟุ้งซ่าน ใจคอไม่สงบ ต้องอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์ มีอาการวิกลจริต โดยที่โจทก์ก็ทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 ทำจึงเป็นโมฆียะเช่นกัน จำเลยทั้งสามขอบอกล้างนับแต่บัดนี้ สัญญาจึงเป็นโมฆะแต่เริ่มแรก ให้โจทก์และจำเลยทั้งสามกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์จะฟ้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2531 จำเลยทั้งสามพบกับโจทก์ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายก โดยมิได้นัดหมายกัน จำเลยทั้งสามจึงได้แจ้งแก่โจทก์ว่า ขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ได้ทำไว้ต่อกัน และนัดโจทก์มารับเงินที่ได้วางมัดจำไว้จำนวน 500,000 บาทคืนไป โจทก์ทราบแล้วเพิกเฉย และไม่ยอมรับเงินดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงไม่จำต้องไปพบโจทก์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาในวันที่ 13 ตุลาคม 2531 อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172 และ 3173 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายก ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามโดยโจทก์จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 950,000 บาท แก่จำเลยทั้งสาม ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยออกค่าภาษีเงินได้ในการโอนนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยต้องชำระตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฟ้องโจทก์ส่วนที่ให้จำเลยที่ 3โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3172 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายก ให้ยกโดยให้คิดลดราคาซื้อขายลงตามส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดิน แต่หากมิได้กำหนดส่วนไว้ในโฉนดที่ดินก็ให้ถือเกณฑ์ครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3173 ตำบลบึงสาน อำเภอองครักษ์จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 25 ไร่ 1 งาน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 3172ตำบลเดียวกันกับที่ดินของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ไม่ปรากฏชัดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2530 จำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้โจทก์รวมเนื้อที่ดิน 2 โฉนด จำนวน 50 ไร่ในราคาไร่ละ 29,000 บาท เป็นเงิน 1,450,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำให้จำเลยทั้งสามรับไว้แล้วจำนวน 500,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 950,000 บาท โจทก์จะชำระให้ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครนายกภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2531ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โดยขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าว จำเลยที่ 3 มีอายุประมาณ 16 ปี 11 เดือน 11 วันและหลังจากนั้นในวันที่ 25 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 3 ซึ่งมีอายุเกินกว่า 17 ปีบริบูรณ์แล้วได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวจ้อยพุกภิญโญ ตามใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ล.4 ที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้เยาว์ แต่ต่อมาหลังจากที่จำเลยที่ 3 บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสแล้ว จำเลยที่ 3ได้ให้สัตยาบันต่อโจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมายจ.2 จึงสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก จำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 3จึงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกัน จึงมีปัญหาว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ซึ่งเป็นหลักทั่วไปบัญญัติว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หากทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมแล้วเป็นโมฆียะและตามมาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หมวด 2 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร มาตรา 1574 บัญญัติเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้เยาว์ซึ่งผู้เยาว์เองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการบางอย่างที่สำคัญของผู้เยาว์ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นเป็นการสมควรก็สั่งอนุญาต แล้วผู้แทนโดยชอบธรรมจึงจะอาศัยคำอนุญาตของศาลไปทำนิติกรรมได้ ในเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้ทำนิติกรรมขายที่ดินซึ่งหมายความรวมถึงนิติกรรมจะขายที่ดินแทนผู้เยาว์โดยลำพังแล้ว จะถือว่าการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมพร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลว่าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ต้องมาขออนุญาตจากศาล ซึ่งเป็นการผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์อยู่จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 และกรณีมิใช่โมฆียกรรม แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 จะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจให้สัตยาบันได้ ปัญหาที่ว่าผู้เยาว์ทำนิติกรรมจะขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมกับผู้แทนโดยชอบธรรมไม่มีผลผูกพันผู้เยาว์นั้น เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้เยาว์และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างแต่ต้น แต่เมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขาย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า หนี้ที่จำเลยทั้งสามมีต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ที่มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่มีผล โจทก์จึงไม่สามารถบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 นั้นได้วินิจฉัยแล้วว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1มีผลสมบูรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 2ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3712 และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็หาได้เป็นลูกหนี้ร่วมกันไม่ ดังนั้น แม้สัญญาจะซื้อจะขายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 3 ไม่จำต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 2จึงต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ตามสัญญาฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share