คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นรวมคดีพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สิทธิในการฎีกาต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่ฟ้องโดยแยกกันตามรายตัวโจทก์เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนรวมทั้งฟ้องแย้งของจำเลยในแต่ละสำนวนไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาว่า ส. มิใช่ลูกจ้างและมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทของอ. ซึ่งโจทก์ผู้เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยและฎีกาโต้เถียงในเรื่องค่าเสียหายล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยและพิพากษาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลย แล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิพากษาใหม่ ดังนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับจุดที่รถยนต์ชนกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ทุกคนมีอายุเกิน 20 ปีแล้วแม้ขณะฟ้องโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์ก็เป็นเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์บกพร่อง และศาลมีอำนาจสอบสวนและสั่งให้แก้ไขความบกพร่องให้บริบูรณ์ได้ก่อนศาลพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 เมื่อโจทก์บรรลุนิติภาวะก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์จึงมีอำนาจเป็นคู่ความด้วยตนเองได้ โดยศาลฎีกาไม่จำต้องสั่งแก้ไขเรื่องความสามารถ แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายในงานศพ และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์เกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นสรุปในตอนท้ายของคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำฟ้องและในส่วนที่เกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์ได้แก้ไขให้เท่าที่ปรากฎในคำฟ้องแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษารวม 22 สำนวนเข้าด้วยกัน คดีมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เพียง 8 สำนวนโจทก์ในสำนวนดังกล่าวฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคนดังต่อไปนี้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 15,000 บาท โจทก์ที่ 8เป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 13,000 บาท โจทก์ที่ 11และที่ 12 เป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 300,000 บาทโจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 700,000บาท โจทก์ที่ 23 เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายของโจทก์แต่ละคน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-1245 ตราด นายสมศักดิ์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยแต่จำเลยให้นายสมศักดิ์ยืมรถยนต์ไปทำธุรกิจส่วนตัว เหตุที่รถยนต์ชนกันตามฟ้องมิใช่เกิดจากความประมาทของนายสมศักดิ์ แต่เป็นเพราะความประมาทของนายอดิเทพเป็นเหตุให้นายสมศักดิ์ถึงแก่ความตายด้วย นายอดิเทพเป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 11 และที่ 12 และกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยเสียหายเสียค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย หากเรียกได้ค่าเสียหายที่ฟ้องก็สูงเกินความจริง โจทก์ที่ 1 และที่ 23 ไม่ขาดไร้อุปการะ และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ที่ 11 และที่ 12 ใช้ค่าเสียหายให้จำเลย150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ที่ 11 และที่ 12 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุคดีนี้ไม่ได้เกิดจากความประมาทของนายอดิเทพ แต่เป็นความประมาทอย่างร้ายแรงของ นายสมศักดิ์ที่ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงกินทางเข้ามาจนเกิดชนกัน และเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน200,000 บาท โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 14(ที่ถูกมีที่ 15 ด้วย) ที่ 16 ที่ 17 ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20 คนละ5,000 บาท โจทก์ที่ 11 ที่ 12 จำนวนเงิน 40,000 บาท โจทก์ที่ 13จำนวน 50,000 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงินที่โจทก์แต่ละคนได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระแก่โจทก์แต่ละคนเสร็จสิ้นคำขอของโจทก์ทั้งยี่สิบสามนอกจากนี้และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งแปดสำนวนนี้ แม้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน แต่สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนที่ฟ้องโดยแยกกันตามรายตัวโจทก์การที่จำเลยฎีกาเฉพาะในส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14 และที่ 23 รวมทั้งส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ที่ 11 และที่ 12 นั้น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนรวมทั้งฟ้องแย้งของจำเลยในแต่ละสำนวนดังกล่าวไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ที่จำเลยฎีกาในแต่ละสำนวนดังกล่าวข้างต้นว่า นายสมศักดิ์มิใช่ลูกจ้างและมิได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลย เหตุรถชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทของนายอดิเทพ ซึ่งโจทก์ที่ 11 และที่ 12 ผู้เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลย และฎีกาโต้เถียงในเรื่องค่าเสียหายก็ดี ล้วนแต่เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อคดีปรากฎเหตุที่มิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งและศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นอาจประกอบด้วยผู้พิพากษาอื่นนอกจากที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งมาแล้วและคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นี้อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกยกได้ ทั้งนี้ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติในมาตรา 243(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลย แล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิพากษาใหม่เช่นนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับจุดที่รถยนต์ชนกันได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2527 โจทก์ที่ 3 และที่ 8 มาเบิกความว่า มีอายุ 16 ปี และ 19 ปี ตามลำดับ และวันที่ 23 เมษายน 2527โจทก์ที่ 9 และที่ 14 มาเบิกความว่า มีอายุ 20 ปี และ 17 ปีตามลำดับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่วันที่ 30 มิถุนายน 2532โจทก์ทุกคนมีอายุเกิน 20 ปี จึงบรรลุนิติภาวะแล้ว แม้ขณะฟ้องโจทก์เหล่านี้เป็นผู้เยาว์ก็เป็นเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์บกพร่อง และศาลมีอำนาจสอบสวนและสั่งให้แก้ไขความบกพร่องให้บริบูรณ์ได้ก่อนศาลพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 56 ฉะนั้น เมื่อฟังได้ว่าโจทก์บรรลุนิติภาวะก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ดังกล่าวจึงมีอำนาจเป็นคู่ความด้วยตนเองได้แล้วศาลฎีกาจึงไม่จำต้องสั่งแก้ไขในเรื่องความสามารถ
แม้ศาลชั้นต้นให้ค่าใช้จ่ายในงานศพของนายสุก 40,000 บาทค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 23 และบุตร 3 คน เป็นเงินคนละ 24,000บาท ซึ่งเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นสรุปในตอนท้ายของคำพิพากษาว่าให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 23 จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามคำฟ้องและในส่วนที่เกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้องศาลอุทธรณ์ได้แก้ไขโดยให้ทุกรายการโจทก์ที่ 23 ได้เท่าที่ปรากฎในคำฟ้องแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา 142
พิพากษายืน

Share