แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อที่ดินจาก ส. แล้วเป็นผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาแม้โจทก์จะระบุเลขที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ลงในหนังสือสัญญาซื้อขายผิดพลาดเป็นที่ดินแปลงอื่นไป และจำเลยเป็นผู้มีชื่อรับโอนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทางทะเบียน ก็ไม่ทำให้สิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินต้องเสียไป ที่ดินที่มีเพียง น.ส.3 ก. ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง มาปรับใช้ได้ จำเลยแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาโจทก์ว่าบุกรุกที่ดินน.ส.3 ก. อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แต่จำเลยก็ยังมิได้เข้าไปครอบครองที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินไปจากโจทก์เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินมาตลอดถึงวันฟ้องโจทก์จึงไม่หมดสิทธิที่จะฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 33 วา ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลกร่ำ อำเภอแกลงจังหวัดระยอง โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางสิทธิ์ บัวแก้วตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2521 และโจทก์ได้เช้าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นมะพร้าวและทำรั้วเสาไม้ขึง ด้วยลวดหนามไว้โดยรอบเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2532 โจทก์ได้ทำการไถคราดที่ดินและหว่านเมล็ดข้าวเปลือก แต่ยังไม่แล้วเสร็จเต็มเนื้อที่ จำเลยกับพวกได้เข้ามารบกวนการครอบครองเมื่อระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่27 มิถุนายน 2532 โดยจำเลยกับพวกทำการปักรั้วเสาปูนซีเมนต์ขึงลวดหนามทับซ้อนรั้วของโจทก์สามด้าน คือด้านทิศเหนือ ด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตก พร้อมกับทำลายรั้วของโจทก์จนใช้การไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการทำนาซึ่งฤดูทำนาครั้งหนึ่งจะได้ข้าวเปลือกจำนวน 3 เกวียน คิดเป็นเงินเกวียนละ4,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,000 บาท ที่ดินตามฟ้องนี้มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว คือ น.ส.3 ก. เลขที่ 512 ตำบลกร่ำอำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับสัญญาในสารบัญจดทะเบียน เมื่อโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวจนได้สิทธิตามกฎหมายแล้ว โจทก์ชอบที่จะมีชื่อในสารบัญจดทะเบียนในฐานะผู้รับสัญญา ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าเสียหายปีละ 12,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนคดีถึงที่สุด ให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์และทำรั้วแทนรั้วเดิมของโจทก์ ให้จำเลยดำเนินการแก้ไขทะเบียนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่512 ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นชื่อโจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลย เมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากนางสิทธิ์ บัวแก้ว ราคา 40,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ทำการปักเสารั้วเป็นแนวเขตที่ดินดูแลครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพร้อมทั้งเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยไม่มีใครมาคัดค้านหรือโต้แย้งสิทธิจนกระทั่งเดือนเมษายน 2530 โจทก์ได้เข้ามาทำการไถพรวนดินในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรตำบลกร่ำเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2532 จำเลยได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็น 7 แปลงไม่มีบุคคลอื่นใดมาโต้แย้งคัดค้านสิทธิของจำเลย จำเลยได้ที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและครอบครองทำประโยชน์โดยถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับเรื่องแย่งสิทธิครอบครองในที่ดินเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 512 ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้จำเลยรื้อถอนรั้วของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว และชำระค่าเสียหายเดือนละ 500 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนคดีถึงที่สุด จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมายล.1 ที่จำเลยได้ซื้อมาจากนางสิทธิ์ บัวแก้ว มารดาโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 ปรากฎตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล.2 ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น แม้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย ล.1จะระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากมารดาโจทก์ก็ตามแต่ด้วยผลของกฎหมายคงสันนิษฐานได้แต่เพียงว่า จำเลยมีเพียงสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเท่านั้น ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามข้อฎีกาของจำเลยนั้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากมารดาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2521ในราคา 10,000 บาท โดยทำสัญญาซื้อขายกันที่บ้านนายสังเวียนจันทร์พราหมณ์ กำนัน ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วมารดาโจทก์ได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยทำนา ปลูกมันสำปะหลังเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2530 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดที่ดินพิพาท โจทก์ได้คัดค้านห้ามปรามว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ซื้อมาจากมารดา ต่อมาในปี 2531จำเลยนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับกุมโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทและฟ้องโจทก์ต่อศาล ศาลยกฟ้อง ซึ่งจำเลยก็มิได้ปฏิเสธอันเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ให้เห็นว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้ครอบครองมาตั้งแต่ก่อนจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากมารดาโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งถูกจำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท และโจทก์ยังมีนายทองมี พรมศรี เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าไม่เคยเห็นจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยในคดีนี้อีกว่า เห็นโจทก์เป็นผู้ทำนาในที่ดินพิพาทจนกระทั่งปัจจุบัน พยานโจทก์ปากนี้ไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อน น่าเชื่อว่าคงเบิกความตามความเป็นจริงอันเป็นการสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ต่างกับพยานจำเลยซึ่งมีแต่ตัวจำเลยเบิกความว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทจากมารดาโจทก์เมื่อปี 2530 ก่อนซื้อสภาพที่ดินพิพาทเป็นนาร้าง แล้วต่อมาในวันที่ 20, 21 ธันวาคม 2531 และวันที่ 6 มกราคม 2532จำเลยไปแจ้งความกล่าวหาโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาท ปรากฎตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายล.3 ถึง ล.5 ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดการแจ้งความของจำเลยในเอกสารหมาย ล.3 แล้ว เห็นว่า ตอนหนึ่งของข้อความที่แจ้งระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของนางสิทธิยังคงใช้ที่ดินดังกล่าวอาศัยทำกินอยู่ซึ่งเท่ากับจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้เข้าทำประโยชน์มาตลอดตั้งแต่ก่อนจำเลยซื้อที่ดินพิพาทอันเป็นการขัดกับที่จำเลยเบิกความในศาลว่าก่อนซื้อที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นนาร้าง ทำให้คำเบิกความของจำเลยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือทั้งนายสังเวียนพยานจำเลยซึ่งเป็นกำนันผู้เขียนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ ที่จำเลยอ้างมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าในวันทำการรังวัดปักเขตที่ดินพิพาทนายสังเวียนอยู่ด้วย เห็นโจทก์ได้แสดงอาการขัดขวางการรังวัด อันเป็นการยืนยันให้เห็นว่าในขณะนั้นโจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสิทธิ์แล้วเป็นผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจริง ดังนั้นแม้โจทก์จะระบุเลขที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ลงในหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ผิดพลาดเป็นที่ดินแปลงอื่นไปก็ดี และการที่จำเลยเป็นผู้มีชื่อรับโอนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาททางทะเบียนตามเอกสารหมาย ล.2ก็ดี ก็ไม่ทำให้สิทธิครอบครองของโจทก์ในที่ดินพิพาทตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วต้องเสียไป และเนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีเพียงน.ส.3 ก. จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองมาปรับใช้กับคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าแม้ในวันที่ 20 ธันวาคม 2531 จำเลยจะแจ้งความกล่าวหาโจทก์ว่าบุกรุกที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.3 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยก็ยังมิได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทไปจากโจทก์เมื่อโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตลอดถึงวันฟ้อง โจทก์จึงไม่หมดสิทธิที่จะฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน