แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนับระยะเวลาภายใน 8 วัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177-178 บัญญัติไว้นั้น ต้องนับตามวิธีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158-190 บัญญัติไว้ คือ ไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย ถ้าระยะเวลานั้นผ่อนออกไป ให้นับเอาวันซึ่งต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมนั้นเป็นวันต้นแห่งระยะเวลาซึ่งผ่อนออกไป
ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 22 ส.ค. 2503 ว่าให้ยืดเวลายื่นคำให้การไป 3 วัน จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การได้ในวันที่ 25 ส.ค. 2503
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิด จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การแล้วแต่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๐๓ อันเป็นวันสุดท้ายที่จะยื่นคำให้การได้ ขอยืดเวลายื่นคำให้การ ๗ วัน ศาลชั้นต้นสั่งในวันนั้น ให้ยืดเพียง ๓ วัน ต่อมาวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๐๓ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ อ้างว่าไม่ได้ยื่นภายในกำหนดที่ขยายให้
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลายื่นคำให้การเดิมคือ วันที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๐๓ ก็ต้องนับวันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๕๐๓ เป็นวันต้นแห่งระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ยืดไป ๓ วัน จำเลยที่ ๑ จึงยื่นคำให้การในวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๐๓ ได้ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การของจำเลยที่ ๑ ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การนับระยะเวลาภายใน ๘ วัน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗-๑๗๘ บัญญัติไว้นั้น ต้องนับตามวิธีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘-๑๖๐ บัญญัติไว้ คือ ไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย ถ้าระยะเวลานั้นผ่อนออกไป ให้นับเอาวันซึ่งต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมนั้น เป็นวันต้นแห่งระยะเวลาซึ่งผ่อนออกไป เมื่อศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๐๓ ว่า ให้ยืดเวลายื่นคำให้การไปเพียง ๓ วัน วันที่ ๒๒ ส.ค. ๒๕๐๓ ไม่นับ เริ่มนับวันที่ ๒๓ ส.ค. ๒๕๐๓ จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ในวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๐๓ พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์