แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ ศ. เบิกความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมยิงปืนใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 อันเป็นการชุลมุนต่อสู้กันตั้งแต่สามคนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจริง แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ใช้ขวดเบียร์ขว้างใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าใช้อาวุธปืนยิง ซึ่งข้อที่แตกต่างเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธไม่ใช่ข้อสำคัญและจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแสดงว่าไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความมาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 294, 299, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9033/2556 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4920/2553 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294, 299 (ที่ถูก มาตรา 294 วรรคแรก (เดิม), 299 วรรคแรก (เดิม)) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันชุลมุนต่อสู้ และบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน จำคุกคนละ 10 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 8 ปี 10 วัน นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9033/2556 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4920/2553 ของศาลชั้นต้น ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปี รวมโทษทุกกระทงจำคุก 4 ปี 10 วัน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน คงลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันชุลมุนต่อสู้ และบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง เกิดเหตุทะเลาะวิวาทชุลมุนต่อสู้กันของคนร้ายสองพวกที่มาเล่นสงกรานต์ที่บริเวณวงเวียนน้ำพุ ที่เกิดเหตุ โดยขว้างปาขวดเบียร์และใช้อาวุธปืนยิงใส่กันจนเป็นเหตุให้นายพงศกร ผู้ตายเสียชีวิต นายมงคลชัย ผู้เสียหายที่ 1 ถูกกระสุนปืนข้างซ้ายลำตัว เข้าช่องท้อง ถูกกระเพาะอาหารและตับ มีเลือดออกในเยื่อหุ้มปอดซ้าย นายศรัณยู ผู้เสียหายที่ 2 ถูกกระสุนปืนเข้าที่ไหล่ขวา มีผลให้เลือดออกในปอดด้านขวา และไขสันหลังฉีกขาด นายอนันต์ ผู้เสียหายที่ 3 ถูกกระสุนปืน เข้าด้านหลังระดับเอวด้านซ้าย กระสุนปืนฝังในกล้ามเนื้อ พนักงานสอบสวนส่งอาวุธปืนสั้นออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) เครื่องหมายทะเบียนเลขที่ กท.54243442 ที่ยึดได้ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 ปลอกกระสุนปืนของกลาง 15 ปลอก ที่พบในที่เกิดเหตุ หัวกระสุนปืนที่ฝังในศพของผู้ตายให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 ตรวจ ผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนของกลางเป็นปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) และเป็นปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. ลูกกระสุนปืนของกลางเป็นลูกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) และกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. ปลอกกระสุนปืน 15 ปลอก ยิงมาจากอาวุธปืน 3 กระบอก แต่ไม่ได้ยิงมาจากอาวุธปืนของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีคนมาเล่นน้ำที่เกิดเหตุจำนวนมาก ซึ่งนายศุภกรกับนางสาววิภาดาเบิกความยืนยันว่าอยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง และนายศุภกรกับนางสาววิภาดายังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ขณะเสียงปืนดังขึ้นพยานอยู่ฝั่งเดียวกับจำเลยที่ 1 ห่างกันประมาณ 10 เมตร แม้เหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลากลางคืน แต่ในที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟสาธารณะข้างทางและจากร้านค้าใกล้ที่เกิดเหตุ แสงไฟส่องมาถึงที่เกิดเหตุ นายศุภกรกับนางสาววิภาดาเห็นเหตุการณ์ในระยะใกล้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และพยานโจทก์ทั้งสองเคยรู้จักและเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 1 มาก่อน ย่อมจำหน้าจำเลยที่ 1 ในคืนเกิดเหตุได้ หลังเกิดเหตุพยานทั้งสองให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีว่าเห็นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิง จนเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 ในเวลาต่อเนื่องกัน แม้ไม่พบอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุแต่เป็นข้อยืนยันว่าประจักษ์พยานโจทก์เห็นเหตุการณ์จริง นอกจากนั้น ทั้งนายศุภกรกับนางสาววิภาดาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุจะเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง ฟังได้ว่านายศุภกรและนางสาววิภาดาเห็นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จริง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่านายศุภกรกับนางสาววิภาดาเบิกความขัดแย้งกันและขณะยิงกันนายศุภกรหมอบลงกับพื้นไม่เห็นเหตุการณ์และในชั้นพิจารณานายศุภกรเบิกความถึงสีเสื้อจำเลยที่ 1 ที่ใส่ในวันเกิดเหตุ แตกต่างจากในชั้นสอบสวนและในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อยู่ที่บ้านตลอดเวลาไม่ได้ออกไปที่ใดนั้น เห็นว่า เมื่อมีเหตุการณ์ยิงกันในที่มีคนจำนวนมาก ย่อมมีความชุลมุนและทุกคนต้องพยายามหลบหลีกเอาตัวรอดเพื่อไม่ให้ถูกยิง จะให้พยานทุกคนเห็นเหตุการณ์ทุกตอนเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อนายศุภกรกับนางสาววิภาดาเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงแล้วขับรถจักรยานยนต์วนออกไปก่อนขับกลับมาใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้น้ำหนักพยานโจทก์มีน้ำหนักหนักแน่น ส่วนรายละเอียดอื่นเป็นเพียงข้อปลีกย่อยแม้จะแตกต่างกันบ้างก็ไม่ทำให้น้ำหนักคำพยานโจทก์เปลี่ยนแปลงไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างฐานที่อยู่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเพียงย่าและภริยาจำเลยที่ 1 มาเบิกความ ซึ่งต้องเบิกความเข้าข้างเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าเวลาประมาณ 3 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ออกไปซื้อของที่ร้านหมวย ปากซอยเทพมงคล จึงขัดกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบเกี่ยวกับฐานที่อยู่เป็นการกล่าวอ้างขึ้นเลื่อนลอย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า นายศุภกรเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนแบบแมกกาซีน ส่วนจำเลยที่ 4 ถืออาวุธปืนกลยิงใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับที่นางสาววิภาดาและผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงปืนรัวดังขึ้นหลายนัดโดยมีเสียงปืนกลด้วยและผู้ตายถูกยิงขณะยืนอยู่ฝั่งเดียวกับจำเลยที่ 1 และเมื่อพันตำรวจตรีวุฒิศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจของกลางที่พนักงานสอบสวนส่งมาคดีนี้มีปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) จำนวน 15 ปลอก ซึ่งปลอกกระสุนปืนดังกล่าวยิงมาจากปืนกลมือยี่ห้อทอมป์สันตรงตามที่ประจักษ์พยานโจทก์เบิกความ ซึ่งนายศุภกรเดินทางไปที่เกิดเหตุกับเจ้รื่นนายจ้างและก่อนเกิดเหตุเห็นเจ้รื่นเข้าไปพูดคุยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยไปหาเจ้รื่นที่คบหากับจำเลยที่ 2 และเคยยืมรถจักรยานยนต์เจ้รื่นไปใช้ และนายศุภกรเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุพยานเคยพบจำเลยที่ 2 ในการแข่งรถบนถนนพระราม 2 และที่บ้านนายโอ๋ นายศุภกรจึงเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 2 มาก่อนหลายครั้ง และในที่เกิดเหตุมีแสงไฟส่องสว่าง ขณะจำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้อาวุธปืนยิงได้วิ่งออกมาจากกลุ่มเพื่อน ๆ นายศุภกรจึงมีโอกาสเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในวันรุ่งขึ้นนายศุภกรให้การกับเจ้าพนักงานตำรวจโดยเล่าเหตุการณ์เหมือนที่เบิกความในชั้นพิจารณา แต่เนื่องจากขณะนั้นนายศุภกรอายุไม่ถึง 18 ปี จึงไม่สามารถสอบปากคำนายศุภกรได้ และวันที่ 13 เมษายน 2555 พันตำรวจโทประวิทย์พนักงานสอบสวนเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เข้ามอบตัว และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า เหตุที่จับจำเลยที่ 2 ในวันที่ 13 เมษายน 2555 เนื่องจากพันตำรวจโทพงษ์ศิริ หัวหน้าชุดสืบสวนนำตัวจำเลยที่ 2 มาส่งให้พยานอ้างว่าเป็นคนร้ายที่กระทำความผิด อีกทั้งจำเลยที่ 2 ถูกนายศุภกรอ้างว่าเป็นคนร้ายในวันนั้นด้วย ซึ่งนอกจากนายศุภกรที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์แล้ว พยานโจทก์ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์อีก และในวันที่ 13 เมษายน 2555 มีการนำตัวจำเลยที่ 2 มาแถลงข่าว แสดงว่านายศุภกรให้การถึงจำเลยที่ 2 ว่าเป็นคนร้ายหลังเกิดเหตุแล้ว หาใช่นายศุภกรพึ่งให้การว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายในวันที่ 26 กันยายน 2555 มิฉะนั้น เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 2 หลังวันเกิดเหตุแล้วนำมาแถลงข่าวได้อย่างไร เจือสมกับที่นายศุภกรยังเห็นจำเลยที่ 3 อยู่ในกลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 4 รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่นายศุภกรเบิกความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมยิงปืนใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 อันเป็นการชุลมุนต่อสู้กันตั้งแต่สามคนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจริง แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ใช้ขวดเบียร์ขว้างใส่กลุ่มจำเลยที่ 1 กับพวก แต่ทางพิจารณาได้ความว่าใช้อาวุธปืนยิง ซึ่งข้อที่แตกต่างเป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธไม่ใช่ข้อสำคัญและจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่รับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุแสดงว่าไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความมาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและยิงปืนโดยใช่เหตุนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 4 ใช้อาวุธปืนยิงในคืนเกิดเหตุ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 มีและพาอาวุธปืนมาที่เกิดเหตุจริง แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้ยึดอาวุธปืนที่จำเลยที่ 4 ใช้ก่อเหตุเป็นของกลาง แม้จำเลยที่ 4 จะไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน แต่ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนของกลางรายการที่ 3 ปลอกกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มม.) เป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ดังนั้น อาวุธปืนที่จำเลยที่ 4 มีอาจเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนก็ได้ จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 4 ว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 4 มีเป็นอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 4 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปบริเวณถนนวงเวียนน้ำพุ อันเป็นการพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรและยิงปืนที่ใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 294 วรรคแรก, 299 วรรคแรก และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่โทษปรับที่บัญญัติใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 วรรคแรก (เดิม), 299 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมชุลมุนต่อสู้และบุคคลหนึ่งบุคคลใดถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 376 การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน จำคุก 10 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 ปี 10 วัน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขคดีแดงที่ 4920/2553 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7