คำวินิจฉัยที่ 99/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่สำนักงานศาลปกครอง โจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดคืนเงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ย สืบเนื่องมาจากการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ. ๔๒๔/๒๕๖๑ วินิจฉัยว่า ตามระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ว่าด้วยค่าเช่าบ้านข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้ข้าราชการที่มี สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านได้นั้นจะต้องเป็นข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงาน ในต่างท้องที่กับท้องที่เริ่มรับราชการครั้งแรก และท้องที่ที่เริ่มรับราชการครั้งแรกจะต้องเป็นท้องที่ ที่สำนักงานได้เปิดทำการแล้ว โดยพบว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุมัติสิทธิการเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านโดยไม่ชอบตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
อย่างไรก็ตาม คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นคดีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องให้รับผิดเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการชดใช้เงิน ส่งมอบทรัพย์สิน กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการกระทำอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร นั้น ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยได้รับไปโดยไม่มีสิทธิพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โดยการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปนั้น มิใช่กรณีที่จำเลยใช้อำนาจตามกฎหมายออกกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือกระทำการอื่นใด ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share