คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่งโจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งแยกได้ ส่วนการจะแบ่งที่ดินพิพาทกันอย่างไรเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีซึ่งสามารถดำเนินการแบ่งได้โดยโจทก์ไม่ต้องขอมา และศาลก็ไม่จำต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายจิระศักดิ์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2531 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 จากนางบัญญัติซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายจิระศักดิ์ โดยนางบัญญัติขายให้โจทก์ทางด้านทิศเหนือส่วนของนายจิระศักดิ์อยู่ด้านทิศใต้ โจทก์ได้ครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัด ขอบังคับให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8137ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 59 1/2 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี นายจิระศักดิ์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ทั้งแปลงมิได้ครอบครองแต่เฉพาะด้านทิศใต้และการจดทะเบียนโอนที่ดินไม่ได้ระบุว่าโอนส่วนใดจึงต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันทั้งหมด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทร่วมกับนายจิระศักดิ์ ลิ้มทรงพรต พิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8137 ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวามีชื่อโจทก์กับนายจิระศักดิ์ ลิ้มทรงพรต เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเป็นภริยาและเป็นผู้จัดการมรดกของนายจิระศักดิ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งหรือไม่ ไม่ปรากฏว่านางบัญญัติและโจทก์สมคบกันโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบแต่อย่างใด ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ครึ่งหนึ่งโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งแยกได้ ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลมิได้พิพากษาให้ประมูลราคาที่ดินหรือขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนำเงินมาแบ่งกันด้วยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การจะแบ่งที่ดินพิพาทกันอย่างไรเป็นเรื่องชั้นบังคับคดีซึ่งสามารถดำเนินการแบ่งได้ โจทก์ไม่ต้องขอมาและศาลไม่จำเป็นต้องพิพากษากำหนดวิธีการแบ่งไว้ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share