คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2487/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่ 6 ใน 12 ส่วน จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดีโดยมิได้ฟ้องแย้งเข้ามาเพื่อขอแบ่งส่วนของตน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทและต่างได้ครอบครองเป็นสัดส่วน ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนที่แต่ละฝ่ายครอบครองได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 349 โจทก์ได้ครอบครองที่ดินบางส่วนตั้งแต่ก่อนได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว โดยใช้เป็นสถานที่ตั้งมัสยิดอัลฮูดาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนามาโดยตลอด และใช้ที่ดินส่วนด้านทิศเหนือของที่ดินมัสยิดเป็นสุสานฝังศพสัปปุรุษสมาชิกของมัสยิด เมื่อเดือนตุลาคม 2529 จำเลยที่ 1 ซึ่งเคยใช้สุสานร่วมกันกับโจทก์ได้เข้ามารบกวนการครอบครอง โดยล้อมรั้วรอบสุสานครอบครองที่ดินส่วนที่เป็นสุสานของโจทก์ โจทก์ได้โต้แย้ง แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังไม่รื้อถอนออกไปโจทก์จึงประสงค์ที่จะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ออกจากโฉนดเลขที่ 349 โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งหกทราบแต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยไม่ยอมดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกไปทำการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 349 ให้โจทก์ 6 ใน 12 ส่วน โดยให้โจทก์ได้ส่วนที่โจทก์ครอบครองอยู่และให้จำเลยแต่ละคน คนละ 1 ใน 12 ส่วน
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินจำนวน 6 ใน 12 ส่วน ของที่ดินโฉนดดังกล่าว โจทก์คงครอบครองแต่เพียงที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งมูลนิธิมัสยิดอัลฮูดาเท่านั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 349 ยังมีที่ว่างและถนนซึ่งโจทก์กับจำเลยทั้งหมดใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2482 จนกระทั่งปัจจุบัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ 6 ใน 12 ส่วน โจทก์มิได้ครอบครองสุสานพิพาท จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์โดยเป็นสถานที่ฝังศพสัปปุรุษตลอดมา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 349 ตำบลหนองจอกฝั่งเหนือ อำเภอหนองจอกกรุงเทพมหานคร โดยส่วนของโจทก์มีอยู่ 20 ส่วน ใน 40 ส่วน จำเลยที่ 1มีอยู่ 1 ส่วน ใน 40 ส่วน จำเลยที่ 2 มีอยู่ 1 ส่วน ใน 40 ส่วนจำเลยที่ 3 มีอยู่ 8 ส่วน ใน 40 ส่วน จำเลยที่ 4 มีอยู่ 1 ส่วนใน 40 ส่วน จำเลยที่ 5 มีอยู่ 1 ส่วน ใน 40 ส่วน จำเลยที่ 6มีอยู่ 8 ส่วน ใน 40 ส่วน ให้คู่ความตกลงแบ่งกันเองตามสัดส่วนดังกล่าว ถ้าหากการแบ่งตกลงกันไม่ได้ ให้ประมูลกันระหว่างคู่ความหรือมิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ครอบครองเป็นส่วนสัด ตามแผนผังเอกสารหมาย จ.7 และ ล.7 ประกอบกัน โดยให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งที่ดินพิพาทด้านติดคลองแสนแสบทางด้านทิศตะวันตกส่วนที่เป็นที่ตั้งอาคารมูลนิธิมัสยิดและสนามหญ้าทั้งหมด จำเลยที่ 1ได้ส่วนแบ่งทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารมัสยิดและสนามหญ้าหน้ามัสยิด โดยยึดแนวถนนเส้นที่ใช้เดินไปสุสานเป็นแนวแบ่งเขต และให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งในที่ดินที่เป็นที่ตั้งของห้องประชุมและที่ทำละหมาด กับได้ส่วนแบ่งในสุสานพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1ฝ่ายละครึ่ง สำหรับที่ดินพิพาททางด้านลำชุมเห็ด ให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทตั้งแต่ทางด้านติดลำชุมเห็ดให้จำเลยที่ 6 ได้เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ และให้โจทก์ได้เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ โดยยึดถือแนวคันนาและทางเดินเท้าเป็นแนวแบ่งเขตกับให้จำเลยที่ 5 ที่ 4และที่ 2 ได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทถัดจากที่ดินที่โจทก์ครอบครองคนละประมาณ 3 ไร่ และจำเลยที่ 3 ได้ส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทบริเวณที่ใช้ปลูกบ้าน ส่วนที่ติดกับคลองแสนแสบในส่วนที่เหลือจากการแบ่งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์อยู่ 6 ใน 12 ส่วน จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดีโดยมิได้ฟ้องแย้งเข้ามาเพื่อขอแบ่งส่วนของตน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งที่ดินให้แก่จำเลยทั้งหก จึงเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องนั้นเห็นว่า เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าโจทก์และจำเลยทั้งหกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และต่างได้ครอบครองเป็นสัดส่วน ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนที่แต่ละฝ่ายครอบครองได้ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง
พิพากษายืน

Share