แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การพยานชั้นสอบสวนประกอบพยานหลักฐานอื่น ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีลงโทษจำเลย ก. ให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตาย แม้ต่อมาจะเบิกความต่อศาลในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนเพื่อเป็นการช่วยเหลือจำเลยก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนของ ก.สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของ ต. ประจักษ์พยานอีกปากหนึ่งที่โจทก์ไม่ได้ตัวมาเป็นพยาน ทั้ง ก. และ ต. ให้การหลังเกิดเหตุทันทีโดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนจึงสามารถรับฟังได้เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาทั้งชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้จริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นลงโทษจำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืน จำคุก 2 ปีฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสองซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกอีก 1 ปี รวมลงโทษจำคุก 18 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษปรานีลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงเหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น 13 ปี 6 เดือน ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง)เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสองอันเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี รวมโทษจำคุก 17 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงเหลือโทษจำคุก12 ปี 9 เดือน ริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทที่ลงโทษจาก มาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็นมาตรา 72 วรรคสามและแก้โทษจากจำคุก 2 ปี เป็นจำคุก 1 ปี เป็นการแก้ไขมาก แต่ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยข้อหาความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวคงรับวินิจฉัยให้เพียงข้อเดียวว่า จำเลยเป็นคนร้ายฆ่าผู้ตายหรือไม่โจทก์มีจ่าสิบเอกกอบพร กระแสเศวต เป็นประจักษ์พยานสำคัญแต่ประจักษ์พยานโจทก์ปากนี้เบิกความแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวนโดยเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานนั่งประจำที่คนขับในรถยนต์ ผู้ตายนั่งอยู่ด้านหลังพยาน ขณะที่พยานกำลังจะเคลื่อนรถ พยานทำไฟแช็กตกไปที่พื้นรถจึงก้มลงเก็บมีรถจักรยานยนต์แล่นเข้ามาจอดใกล้รถของพยาน ผู้ตายเปิดประตูรถออกไปมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดพยานจึงหมอบลง เมื่อสิ้นเสียงปืนก็ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์แล่นออกไป พยานเปิดประตูรถออกไปพบผู้ตายถูกยิง ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงผู้ตาย แต่ในชั้นสอบสวนจ่าสิบเอกกอบพรให้การยืนยันต่อพันตำรวจโทชัชวาลย์ สุขสมจิตต์ พนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 4-5 นัด ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.3 ขณะทำการสอบสวนพันตำรวจโทชัชวาลย์ได้นำภาพถ่ายของจำเลยซึ่งเคยถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจรเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน2529 มาให้พยานดู พยานดูภาพถ่ายหมาย จ.4 แล้วยืนยันว่าเป็นภาพถ่ายของจำเลยจริง นอกจากจ่าสิบเอกกอบพรแล้วโจทก์ยังมีพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยและผู้ตายอีกหลายปากโดยเฉพาะนายกรีฑาหรือต้อ ตี่คะกุล เป็นพยานปากหนึ่งซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด แต่โจทก์ไม่สามารถนำตัวพยานปากนี้มาเบิกความต่อศาลได้เนื่องจากหาตัวไม่พบ โจทก์จึงส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายกรีฑาหรือต้อเป็นพยาน โดยมีพันตำรวจโทชัชวาลย์มาเบิกความยืนยันว่าได้สอบสวนพยานปากนี้ไว้จริง ตามบันทึกคำให้การของนายกรีฑาหรือต้อเอกสารหมาย จ.9 ศาลฎีกาเห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจ่าสิบเอกกอบพรและนายกรีฑาหรือต้อพยานโจทก์สอดคล้องตรงกันและได้ให้การภายหลังเกิดเหตุทันทีโดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใด เชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงตามที่ได้รู้ได้เห็นโดยไม่มีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานการที่จ่าสิบเอกกอบพรประจักษ์พยานโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงผู้ตายก็คงเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด ศาลฎีกาเชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจ่าสิบเอกกอบพรเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา และเห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลประการใด เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดี เช่น จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.7 โดยโจทก์มีนายดาบตำรวจสมานบัวสมบัติ ผู้จับกุมจำเลยมาเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยให้การรับสารภาพจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกทำร้ายร่างกายหรือบังคับขู่เข็ญให้ให้การรับสารภาพแต่อย่างใด เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางวนิดา เกเนอร์ น้องสาวผู้ตายว่า คืนเกิดเหตุจ่าสิบเอกกอบพรและร้อยตรีกมล อ่องแสงคุณ เพื่อนของผู้ตายไปบอกพยานว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง คดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาฆ่าผู้ตายมานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน