คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2282/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระบุว่า โจทก์จะได้รับเงิน 40,000 บาท ต่อเดือนเงินโบนัสประจำปีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน และจะมีเงินโบนัสสำหรับการปฏิบัติหน้าที่จ่ายให้แก่โจทก์สำหรับงานใด ๆ ซึ่งโจทก์จัดการให้ได้มาแก่จำเลยด้วยความพยายามของโจทก์เอง โดยจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 2.5 ของสินจ้างของงานนั้น ๆ ดังนั้น นอกจากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนแล้ว เมื่อโจทก์จัดหางานตามโครงการมาได้ โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนร้อยละ 2.5 ของสินจ้างที่จำเลยได้รับอันเป็นผลงานที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างหามาได้ย่อมถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงานโดยตรง แม้ในสัญญาจ้างจะเรียกเงินดังกล่าวว่าโบนัส ก็เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดจ่ายเงินค่าจ้างแก่โจทก์เมื่อใดจึงให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรก ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ส่วนเงินเพิ่มนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินค่าจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2532 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา 3 ปี โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการและที่ปรึกษาทางวิชาการรวมทั้งปฏิบัติหน้าที่จัดหางานหรือโครงการ รับจ้างเป็นที่ปรึกษางานหรือโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้แก่จำเลย โดยมีข้อตกลงระบุในข้อที่ 6 ตามสัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่า จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์สำหรับผลการทำงานซึ่งโจทก์สามารถจัดหางานหรือโครงการให้แก่จำเลยได้ในอัตราร้อยละ 2.5 ของมูลค่างานหรือโครงการนั้น ๆ ทั้งนี้รวมถึงงานหรือโครงการใด ๆ ที่โจทก์สามารถจัดหาให้ได้และจำเลยได้กำหนดหมายเลขโครงการแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 และเดือนมกราคม 2535 โจทก์สามารถจัดหางานหรือโครงการให้แก่จำเลยได้รวม 2 โครงการ คือ (1) งานโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจำเลยได้รับสินจ้างในโครงการด้วยเงินสกุลอีซียูของกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป จำนวน 426,621 อีซียูจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนวน10,665,525 อีซียู แต่เมื่อถึงกำหนดชำระในวันที่ 1 ตุลาคม 2534จำเลยชำระให้แก่โจทก์เพียงจำนวน 5,332.7625 อีซียู และชำระให้อีกครั้งจำนวน 138 อีซียู เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2535 ยังค้างชำระอีกจำนวน 5,194.7625 อีซียู คิดเป็นเงินไทยจำนวน 163,635 บาท(2) งานโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแบบยั่งยืนซึ่งจำเลยได้รับสินจ้างในโครงการเป็นเงินจำนวน 5,646,050 บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนวน 141,151.25 บาทแต่เมื่อถึงกำหนดชำระในวันที่ 13 มกราคม 2536 จำเลยไม่ชำระให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินค่าจ้างค้างชำระจำนวน 304,786.25 บาทการกระทำของจำเลยเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างที่ทำไว้กับโจทก์ และเป็นการจงใจผิดนัดไม่ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 304,786.25 บาทพร้อมทั้งเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 จากต้นเงินจำนวน 163,635 บาททุกระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2534 เงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 จากต้นเงินจำนวน 141,151.25 บาท ทุกระยะเวลา 7 วันนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 163,635 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2534 และจากต้นเงินจำนวน 141,151.25 บาทนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นไปสัญญาข้อ 6 ไม่ใช่เรื่องการจ่ายเงินค่าจ้าง แต่เป็นข้อตกลงในการจ่ายเงินโบนัสซึ่งเป็นเงินรางวัลพิเศษ และข้อตกลงดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2534 โดยให้มีผลต่องานโครงการที่โจทก์ได้จัดหามาจนถึงปัจจุบันและในอนาคตการที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินทั้งสองโครงการโดยอ้างข้อตกลงเดิมจึงเป็นการไม่ถูกต้องโครงการแต่ละโครงการที่โจทก์ฟ้องจะต้องเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสในเงื่อนไขที่แก้ไขใหม่ดังนี้งานโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโครงการที่มีอยู่ในขณะแก้ไขสัญญา ซึ่งเงื่อนไขข้อตกลงที่แก้ไขใหม่ให้แบ่งการจ่ายเงินโบนัสร้อยละ 2.5 ของมูลค่าโครงการออกเป็น 2 งวดงวดที่ 1 ร้อยละ 1.25 ของมูลค่างานโครงการ โดยจะจ่ายให้ล่วงหน้างวดที่ 2 ร้อยละ 1.25 ของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับจากผู้ว่าจ้างในรอบปีที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างอยู่ โดยทั้งสองงวดโจทก์ได้ถือปฏิบัติตามและได้รับเงินจากจำเลยไปหมดแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบเงินโบนัสในส่วนนี้ให้โจทก์อีก ส่วนงานโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแบบยั่งยืนเป็นงานโครงการที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการแก้ไขสัญญาซึ่งตามเงื่อนไขข้อตกลงที่แก้ไขใหม่นี้นอกจากการจ่ายเงินโบนัสจะเป็นเช่นเดียวกับงานโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ผู้จัดการโครงการดังกล่าวจะต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในการดำเนินงาน มิใช่แต่เพียงแนะนำหรือเขียนโครงการเท่านั้น อย่างไรก็ตามกรณีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เป็นผู้จัดการหาหรือมีส่วนรับผิดชอบในโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิรับเงินรางวัลพิเศษหรือเงินโบนัสจากโครงการนี้ด้วย และจำเลยยังไม่ได้รับสินจ้างแต่ละโครงการเต็มจำนวนของมูลค่างานทั้งหมดโดยได้รับเป็นระยะตามผลงาน ดังนั้นที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้รับสินจ้างทั้งหมดเต็มจำนวนทั้งสองโครงการแล้วจึงเป็นการไม่ถูกต้อง สำหรับเงินเพิ่มและดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องนั้นเมื่อเงินที่โจทก์ฟ้องมิใช่เงินค่าจ้างแต่เป็นเงินรางวัลพิเศษหรือเงินโบนัส ทั้งการปฏิเสธไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ก็มีเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบชำระดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์จากการจ่ายงวดเดียว เป็นการจ่ายล่วงหน้าให้กึ่งหนึ่งเมื่อได้รับโครงการ ส่วนอีกกึ่งหนึ่งจะจ่ายให้ตามส่วนที่จำเลยได้รับสินจ้างจากเจ้าของโครงการ ซึ่งโจทก์ทราบและถือปฏิบัติตามแล้ว ขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้นยังไม่มีการนำเสนอทางวิชาการและตกลงทำสัญญาตามโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานแบบยั่งยืน จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้นำเสนอโครงการดังกล่าวเงินโบนัสหรือค่าตอบแทนตามฟ้องมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เพราะมิได้จ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 แต่คดีฟังได้ว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนตามโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าตอบแทนในส่วนที่ยังค้างชำระจำนวน 163,635 บาท ให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 163,635 บาท ให้แก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 ระบุว่า โจทก์จะได้รับเงิน 40,000 บาทต่อเดือน เงินโบนัสประจำปีเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน และจะมีเงินโบนัสสำหรับการปฏิบัติหน้าที่จ่ายให้แก่โจทก์สำหรับงานใด ๆซึ่งโจทก์จัดการให้ได้มาแก่จำเลยด้วยความพยายามของโจทก์เองโดยจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 2.5 ของสินจ้างของงานนั้น ๆ ฯลฯดังนั้นนอกจากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนแล้ว เมื่อโจทก์จัดหางานตามโครงการมาได้ โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนร้อยละ 2.5 ของสินจ้างที่จำเลยได้รับอันเป็นผลงานที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างหามาได้ ย่อมถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จ่ายตอบแทนการทำงานโดยตรง แม้ในสัญญาจ้างจะเรียกเงินดังกล่าวว่าโบนัส ก็เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 แต่เงินค่าจ้างจำนวน 163,635 บาท ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด จึงให้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรก ส่วนเงินเพิ่มนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่าย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share