แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าการที่คนร้ายลักข้าวสารไปนั้นเพราะความผิดของโจทก์ แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบอันเกี่ยวกับความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยเป็นอาจิณและข้าวสารของจำเลยจำนวนมากถูกคนร้ายลักไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์ ถือได้ว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยขาดความเชื่อถือและไว้วางใจโจทก์ที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแล้ว จำเลยจึงมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ครั้งสุดท้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า 14 ปทุมธานี ได้รับเงินเดือนเดือนละ 6,570 บาทกำหนดจ่ายเงินเดือนทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2528 จำเลยมีคำสั่งที่ 5/2528 ให้โจทก์ออกจากงาน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการและละเว้นกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายและจำเลยได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดนนทบุรีข้อหาละเมิด ตามคดีหมายเลขดำที่ 264/2527 หมายเลขแดงที่ 1871/2531ศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 39,420 บาท พร้อมดอกเบี้ย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,570 บาท พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เท่ากับอัตราเงินเดือนสุดท้ายนับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2530ซึ่งเป็นวันครบเกษียณอายุ เป็นเงิน 215,715 บาท พร้อมดอกเบี้ยขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 439,614.46 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2520 โดยโจทก์เก็บกุญแจคลังสินค้าทั้ง 3 ชุด ไว้คนเดียว และเปิดคลังสินค้าในวันหยุดราชการและเวลาเลิกงานโดยพลการโดยมิได้รับอนุญาต และโจทก์รู้มาก่อนว่าข้าวในคลังสินค้าอาจสูญหายไปเนื่องจากกุญแจคลังสินค้าไม่ปลอดภัยแต่โจทก์มิได้จัดการแก้ไขเปลี่ยนกุญแจใหม่หรือใช้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และโจทก์ไม่จัดทำบัญชีคุมสินค้าให้ถูกต้องตามระเบียบ ทำให้ข้าวขาว 10 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 371 กระสอบหายไปและข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 จำนวน 1,201 กระสอบถูกโจรกรรมการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง และเป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,420 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันฟ้องโดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 14,782.50 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 มกราคม 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คลังสินค้า 14 ปทุมธานี เป็นสถานที่ที่เก็บสินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าจำนวนมากของจำเลยการที่จำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2516 ก็เพื่อประโยชน์แก่การบริหารงานบังคับบัญชาพนักงานให้ปฏิบัติงานเป็นผลดีและดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยกับที่ต้องมีระเบียบองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2520 ก็เพื่อให้การดูแลเก็บรักษาสินค้าของจำเลยดังกล่าวให้อยู่ในความปลอดภัย ป้องกันการทุจริตของพนักงานการสูญหายหรือเสียหายซึ่งสินค้า ถือได้ว่าเป็นระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลย พนักงานของจำเลยทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งสูงเช่นโจทก์ซึ่งย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากจำเลย และมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้า 14 ปทุมธานี จะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตลอดเวลาที่โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้า 14 ปทุมธานี โจทก์ไม่เคยส่งมอบกุญแจแก่ผู้ช่วยหัวหน้าคลังสินค้าและไม่เคยส่งมอบกุญแจอะไหล่แก่หัวหน้ากองควบคุมคลังสินค้า อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบองค์การคลังสินค้า ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาสินค้า (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2520 ข้อ 27 ซึ่งเป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและปรากฏด้วยว่าข้าวสารของจำเลยจำนวนมากถูกคนร้ายลักไปแม้จำเลยจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าการที่คนร้ายลักข้าวสารไปนั้นเป็นเพราะความผิดของโจทก์ก็ตามแต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบอันเกี่ยวกับความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยเป็นอาจิณและข้าวสารของจำเลยจำนวนมากถูกคนร้ายลักไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมขาดความเชื่อถือและไว้วางใจโจทก์ที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปแล้ว จำเลยจึงมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวของจำเลยเป็นอาจิณถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน