คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 903/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างมีข้อความระบุว่าบันทึกการนำชี้สถานที่ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา แม้โจทก์มิได้ลงชื่อในบันทึกก็ต้องผูกพันตามนั้น การที่โจทก์ต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายประธานเข้าสู่อาคารตามกำหนดในบันทึกต่อท้ายสัญญาจ้างย่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจ้าง จำเลยหาจำต้องชำระค่าใช้จ่ายในการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าแก่โจทก์อีกต่างหากไม่ เมื่อฟังได้ว่างานต่อเชื่อมสายไฟฟ้าเป็นงานส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง แต่โจทก์ส่งมอบงานส่วนนี้ล่าช้าจำเลยจึงมีสิทธิคิดหักเบี้ยปรับจากค่าจ้างที่ต้องชำระแก่โจทก์ได้นับแต่วันครบกำหนดสัญญาการที่จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามบันทึกต่อท้ายสัญญาหาใช่เป็นการขยายอายุสัญญาจ้างออกไปอีกไม่ เบี้ยปรับถือเป็นค่าเสียหายกำหนดไว้ล่วงหน้าให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามข้อตกลงศาลอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้ เมื่อจำเลยต้องคืนเบี้ยปรับแก่โจทก์จำเลยหาจำต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับจากวันที่จำเลยใช้สิทธิปรับโจทก์ไม่เพราะการที่จำเลยหักเงินค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนจำนวน 1 หลังตามแบบ สปช.2/2528 ในราคาจ้างเหมารวมทั้งสิ้น2,231,246 บาท ตกลงแบ่งชำระเงินตามผลงานที่ก่อสร้างเป็นงวดรวม5 งวด โจทก์ได้ก่อสร้างอาคารเรียนตามสัญญาและได้รับเงินค่าจ้างสำหรับงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 จากจำเลยแล้ว ส่วนงวดที่ 5โจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 14 เมษายน 2529 และมีหนังสือแจ้งให้ผู้แทนจำเลยทราบเพื่อทำการตรวจรับงานพร้อมกับขอเบิกเงินค่าก่อสร้างงวดดังกล่าวจำนวน 561,246 บาท แล้วแต่ผู้แทนจำเลยแจ้งว่างานก่อสร้างงวดที่ 5 ยังไม่แล้วเสร็จ โดยโจทก์มิได้ทำการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายประธานของการไฟฟ้าไปยังสายไฟฟ้าภายนอกอาคารเรียนเข้าสู่ตัวอาคารเพื่อให้ใช้การได้ จึงให้โจทก์ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน มิฉะนั้นจะไม่จ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้าย การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาเพราะงานดังกล่าวเป็นงานที่อยู่นอกเหนือสัญญา ซึ่งจำเลยจะต้องเสียค่าจ้างให้แก่โจทก์อีกต่างหาก แต่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยโจทก์ได้ดำเนินการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากเขตการจำหน่ายไปยังอาคารเรียนที่โจทก์รับเหมาก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 ผู้แทนจำเลยได้ตรวจรับเมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2529 โจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในงานนี้ไปเป็นเงินทั้งสิ้น221,317 บาท แต่จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจำนวน 561,246บาท ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2529 โดยไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ชำระให้แก่การไฟฟ้าจังหวัดหนองคายเป็นค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและเชื่อมสายไฟฟ้าดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยยังได้หักเงินค่าจ้างไว้เป็นค่าปรับฐานผิดสัญญาอีกด้วย โดยอ้างว่าโจทก์ทำงานล่าช้าไม่เสร็จตามกำหนดตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2529 ถึงวันที่24 กรกฎาคม 2529 เป็นเวลา 92 วัน วันละ 2,300 บาท รวมเป็นเงิน 211,600 บาท ความจริงโจทก์ได้ก่อสร้างอาคารเรียนถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว การที่จำเลยให้โจทก์ติดต่อกับการไฟฟ้าจังหวัดหนองคาย ขยายเขตการจำหน่ายกระแสไฟฟ้ามายังบริเวณก่อสร้างดังกล่าวเป็นการจ้างเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างส่วนนี้ให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 221,317 บาท และการที่จำเลยหักเงินค่าก่อสร้างงวดสุดท้ายไว้เป็นค่าปรับ เป็นการมิชอบ จำเลยจะต้องชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ แม้จะฟังว่าการเชื่อมกระแสไฟฟ้าเป็นงานซึ่งรวมอยู่ในสัญญา ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เนื่องจากจำเลยเริ่มนับวันที่ก่อสร้างล่าช้าตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2529 เป็นการไม่ถูกต้องเพราะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2529อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยแจ้งโจทก์ให้ดำเนินการดังกล่าว นับถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 เป็นเวลาเพียง 16 วัน และค่าเสียหายที่จำเลยคิดจากค่าปรับวันละ 2,300 บาท เป็นจำนวนสูงเกินส่วนความจริงแล้วจำเลยเสียหายวันละ 500 บาท รวม 16 วันเป็นเงิน 8,000 บาทเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและเชื่อมสายไฟฟ้ากับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 253,684 บาท และเงินค่าปรับกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 เมษายน2529 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 246,514 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น500,198 บาท กับชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าติดตั้งและเชื่อมสายไฟฟ้าจำนวน 221,317 บาท และต้นเงินค่าปรับจำนวน 211,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเองเนื่องจากโจทก์มิได้ทำการเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าประธานไปยังสายไฟฟ้าภายนอกและภายในอาคารเรียนที่ก่อสร้าง เพื่อให้ใช้การได้โดยผ่านมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าเชื่อมสายไฟฟ้าแก่โจทก์นอกจากนี้โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเกินกำหนดเวลาไป 92 วัน จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายเป็นค่าปรับตามสัญญาได้ และค่าปรับวันละ 2,300 บาทเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างอีก 119,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อแรกว่า การต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายประธานของการไฟฟ้าจังหวัดหนองคายไปยังสายไฟฟ้านอกอาคารเรียนเข้าสู่ตัวอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคาย มิได้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเลขที่116/2528 ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2528 และจำเลยต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายกับดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์นั้น ได้ความว่าตามแบบแปลนก่อสร้างแบบ สปช.2/2528 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 6ข้อ 6 มีข้อความระบุไว้ในรายการติดตั้งไฟฟ้าว่าให้ต่อเชื่อมสายประธานภายในกับภายนอกให้เรียบร้อยใช้การได้ทันทีโดยผ่านมิเตอร์ของการไฟฟ้า นอกจากนี้ในรายการประกอบแบบก่อสร้าง ซึ่งใช้ประกอบแบบการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2527 ตามเอกสารหมาย จ.4หน้า 25 มีรายการระบุเกี่ยวกับงานไฟฟ้าไว้อีกว่า ถ้าภายในโรงเรียนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ให้ติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคารตามแบบถ้าภายในโรงเรียนมีกระแสไฟฟ้าใช้ ให้เดินสายเชื่อมกับสายประธานภายในโรงเรียนจนใช้การได้ ถ้าเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้จะกำหนดในวันชี้สถานที่ในการชี้สถานที่ก่อสร้างนี้ จำเลยมีนายสุพล ฤาชาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่ปี2525 ถึงปี 2528 กับนายสมบูรณ์ บุญมา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดหนองคายตั้งแต่ปี 2525 ถึงปี2530 เป็นพยานโดยนายสุพลเบิกความว่า หลังจากได้แจ้งความประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายแล้วมีผู้ซื้อแบบแปลนเกินกว่า 20 คน พยานได้มอบหมายให้นายสมบูรณ์ไปชี้สถานที่ก่อสร้างและให้ชี้แจงเกี่ยวกับงานไฟฟ้าว่า ให้ต่อไฟฟ้าภายในอาคารให้ใช้งานได้ทันที นายสมบูรณ์เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ชี้สถานที่ก่อสร้าง มีผู้ซื้อแบบไปดูสถานที่ก่อสร้าง 10 กว่าราย นายวิชิต เร่งศิริกุล ไปดูสถานที่ก่อสร้างด้วย พยานได้ชี้แจงเรื่องการต่อเชื่อมไฟฟ้าจากเขตบริการของการไฟฟ้าจังหวัดหนองคายเข้าสู่อาคารโรงเรียน การติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคารกับภายนอกอาคารและการใช้กระแสไฟฟ้าต้องทำตามที่การไฟฟ้าจังหวัดหนองคายกำหนด ทั้งยังได้ชี้แจงว่าเนื่องจากพื้นดินบริเวณที่จะก่อสร้างลาดเอียง การก่อสร้างจะต้องทำตามแบบที่โยธาธิการจังหวัดหนองคายกำหนด โดยให้ยกพื้นอาคารสูงจากพื้นดิน1 เมตร ในการชี้แจงสถานที่ก่อสร้างพยานได้ทำบันทึกข้อความไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวมีข้อความ 2 ข้อ ข้อ 1เป็นงานยกระดับพื้นอาคาร ข้อ 2 มีข้อความว่า การติดตั้งไฟฟ้าภายนอก ผู้รับจ้างจะต้องติดตั้งต่อสายไฟ ตั้งเสาเพื่อมาเชื่อมกับไฟฟ้าภายในตามระเบียบของการไฟฟ้าให้แล้วเสร็จจนสามารถใช้ไฟฟ้าได้ และได้ความจากสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.8 ข้อ 8ระบุว่า บันทึกในวันชี้สถานที่ก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแม้โจทก์จะมิได้ลงชื่อในเอกสารหมาย ล.3 แต่ในสัญญาจ้างมีข้อความระบุถึงเอกสารดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และสำหรับงานข้อ 1ตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.3 โจทก์ได้สร้างเสร็จและส่งมอบแก่จำเลยพร้อมกับงานงวดที่ 1 เรียบร้อยแล้วแสดงว่าโจทก์ทราบข้อความและตกลงผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายนั้น เป็นงานรวมถึงการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายประธานของการไฟฟ้าจังหวัดหนองคายไปยังสายไฟฟ้านอกอาคารเรียนเข้าสู่ตัวอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายด้วยงานนี้จึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของจำเลย และเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเลขที่ 116/2528 ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2528 จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อปลีกย่อยอื่นในปัญหาข้อนี้อีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาว่า โจทก์มิได้ส่งมอบงานล่าช้านั้นเห็นว่าเมื่อคดีฟังได้ว่างานต่อเชื่อมสายไฟฟ้าจากสายประธานของการไฟฟ้าจังหวัดหนองคายมายังอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายเป็นงานส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งกำหนดให้โจทก์ดำเนินการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2529 และส่งมอบงานนี้ให้ตัวแทนจำเลยตรวจรับเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 นั้น แสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.29 บอกกล่าวให้โจทก์ดำเนินการต่อเชื่อมสายไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันหากโจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่จำเลยกำหนด จำเลยจึงจะมีสิทธิคิดค่าปรับได้เฉพาะหลังจากครบกำหนดนั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวเป็นการเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาภายหลังที่โจทก์ตกเป็นผู้ผิดนัดเท่านั้นหาใช่เป็นการจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างเพิ่มเติมอันจะเป็นการขยายอายุสัญญาจ้างออกไปอีกไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยคำนวณค่าปรับจากยอดเงินที่โจทก์ประมูลได้ในอัตราร้อยละ 0.1 กล่าวคือโจทก์ประมูลได้ในราคา 2,231,246 บาทจำเลยคิดค่าปรับในสัญญาจ้างวันละ 2,300 บาท ความจริงจำเลยเสียหายไม่เกินวันละ 100 บาท ขอให้ยกเลิกหรือลดค่าปรับนั้น เนื่องจากในปัญหาข้อนี้ฝ่ายจำเลยฎีกามาด้วยศาลฎีกาจึงวินิจฉัยพร้อมกันโดยจำเลยฎีกาว่า ศาลไม่ควรลดค่าปรับให้โจทก์เพราะโจทก์จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญา การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โดยจำเลยไม่ได้ใช้อาคารให้เป็นไปตามแผนงานการศึกษาของชาติ และบุคลากรส่วนหนึ่งของจำเลยต้องสูญเสียเวลาในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีของโจทก์นั้นเห็นว่าค่าปรับหรือเบี้ยปรับถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง อันอาจมีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา ทั้งคู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญา เพื่อให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาชดใช้ให้แก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องเป็นไปตามนั้นฉะนั้นศาลจึงอาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญานั้นลงได้ คดีนี้ จำเลยนำสืบมาว่า หากโจทก์สร้างอาคารเรียนเรียบร้อยภายในกำหนดจำเลยจะย้ายโรงเรียนที่เดิมมายังที่ก่อสร้างใหม่ แต่เมื่อโจทก์สร้างไม่เสร็จตามกำหนดในสัญญา จึงไม่สามารถรับนักเรียนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายได้ โจทก์ไม่โต้แย้งในข้อนี้จังฟังได้ว่า จำเลยได้รับความเสียหายในส่วนนี้ ส่วนการปฏิบัติราชการของบุคลากรของจำเลยเกี่ยวกับคดีที่โจทก์ฟ้องก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการในหน้าที่ส่วนหนึ่งเมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายจนเสร็จแล้ว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พิเคราะห์พฤติการณ์ได้เสียของจำเลยแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าปรับให้แก่จำเลยเป็นเงินวันละ 1,000 บาทนั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า แม้ศาลจะใช้ดุลพินิจลดค่าปรับให้แก่โจทก์แต่จำเลยก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์นับจากวันที่จำเลยปรับโจทก์จนกว่าจำเลยจะชำระค่าปรับคืนแก่โจทก์เสร็จนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลหนองคายส่งมอบให้จำเลยล่าช้ากว่ากำหนด จำเลยจึงปรับโจทก์ตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้จากเงินค่าจ้าง เมื่อศาลพิพากษาลดค่าปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ให้จำเลยคืนเงินค่าปรับบางส่วนแก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยหักเงินค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบที่จำเลยจะกล่าวอ้างได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินที่จำเลยต้องจ่ายคืนแก่โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 119,600 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share