แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ยังแบ่งปันกันไม่เสร็จ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปัน ถือว่า ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเอาไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกของ ส. ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้รับนั้นได้จำเลยจะยกเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2522นางสง่าศรี ทิวะวิภาต ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินคือที่ดินให้แก่บุตรของนายจรูญ นางเยาวมาลย์ มูลโพธิ์ 1 ส่วน ให้บุตรของนายอุดม นางสงวนศรี ศรีจันทร์ คือโจทก์ทั้งห้า 1 ส่วน ให้บุตรของนายสงบ นางประดับสิน สุจิตรกุล คือจำเลย 1 ส่วน โดยกำหนดให้นายสงบ สุจิตรกุล เป็นผู้จัดการมรดกรับโอนทรัพย์มรดกไว้ก่อนแล้วจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินนำไปแบ่งปันให้แก่ทายาทตามส่วน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2522 นางสง่าศรี ทิวะวิภาต ถึงแก่กรรมนายสงบ สุจิตรกุล บิดาจำเลยได้เข้าจัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรมสำหรับที่ดินซึ่งเป็น น.ส.3 ได้ดำเนินการขอออกโฉนดและแบ่งแยกโฉนดหลายครั้ง นำที่ดินดังกล่าวบางส่วนออกขายให้แก่บุคคลอื่นแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งปันให้แก่ทายาทตามส่วนแห่งสิทธิระหว่างการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น นายสงบ สุจิตรกุล ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 มีทรัพย์มรดกของนางสง่าศรี ทิวะวิภาต ที่ยังไม่ได้จำหน่ายหรือแบ่งปันให้แก่ทายาทคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 267, 268, 298, 308, 310, 311, 312 และ 314ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาจำเลยได้นำพินัยกรรมของนายสงบ สุจิตรกุล ฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2530ไปติดต่อขอรับโอนที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางสง่าศรี ทิวะวิภาต แบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเนื้อที่รวมประมาณ 4 ไร่เศษ หากแบ่งไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 738,000 บาท
จำเลยให้การว่า นายสงบ สุจิตรกุล บิดาจำเลยได้จัดการทรัพย์มรดกของนางสง่าศรี ทิวะวิภาต เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่พ.ศ. 2528 โดยได้นำเงินแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 2,700,000บาท ครบถ้วนตามส่วนแห่งสิทธิแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ฟ้องคดีนี้ล่วงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 268, 294, 308,310, 311, 312 และ 314 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม ให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวนหนึ่งในสามของที่ดินดังกล่าวในแต่ละโฉนด หากแบ่งแยกไม่ได้ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางสง่าศรี ทิวะวิภาต เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสงบ สุจิตรกุล ก่อนนางสง่าศรีถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่นายสงบบิดาของจำเลย และให้นายสงบเป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย จ.1 แต่ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 มีเงื่อนไขว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1075 อำเภอเมืองมหาสารคาม ที่ดินโฉนดเลขที่ 15 อำเภอโกสุมพิสัย น.ส.3เล่ม 1 หน้า 72 เลขที่ 356, 358, 359, 360, และ น.ส.3 เล่ม 1หน้า 71 เลขที่ 355 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย ให้ผู้รับพินัยกรรมรับโอนมรดกไว้ก่อนแล้วจัดหาผลประโยชน์จากที่ดินนำผลประโยชน์มาแบ่งส่วน ๆ ละเท่า ๆ กัน ให้แก่บุตรของนายจรูญนางเยาวมาลย์ มูลโพธิ์ 1 ส่วน บุตรนายอุดม นางสงวนศรี ศรีจันทร์คือโจทก์ทั้งห้า 1 ส่วน ให้แก่บุตรนายสงบ นางประดับสิน สุจิตรกุล1 ส่วน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2522 นางสง่าศรี ถึงแก่กรรมนายสงบได้ดำเนินการจัดการมรดกโดยนำที่ดินตาม น.ส.3 ทะเบียนเลขที่ 355 และ 356 ไปขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคามซึ่งทางราชการออกโฉนดให้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 268 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 และที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 นี้ได้แบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 277 ตามเอกสารหมาย จ.8 และโฉนดเลขที่305 ถึงโฉนดเลขที่ 318 ตามเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.12 และ จ.18ถึง จ.22 ตามลำดับที่ดินโฉนดเลขที่ 304 ตามเอกสารหมาย จ.12ยังแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยอีกเป็นโฉนดเลขที่ 326 ถึง 330 ตามเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.17 นอกจากนี้นายสงบได้นำที่ดินตาม น.ส.3ทะเบียนเลขที่ 358 ถึง 360 ไปขอออกโฉนดเลขที่ 267 ตามเอกสารหมายจ.23 และแบ่งแยกที่ดินตามเอกสารหมาย จ.23 เป็นโฉนดเลขที่ 293, 294ตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 294 แบ่งแยกออกอีกเป็นโฉนดเลขที่ 426 ถึง 428 ตามเอกสารหมาย จ.26 ถึง จ.28 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 313 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเอกสารหมายจ.7 และโฉนดเลขที่ 292 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.23 นายสงบได้มอบให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินที่ออกโฉนดมาเป็นแปลงดังกล่าว นายสงบได้นำไปขายบางส่วนนำเงินมาแบ่งปันให้แก่ทายาทตามพินัยกรรม คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 268ตามเอกสารหมาย จ.7 โฉนดเลขที่ 308 ตามเอกสารหมาย จ.12 โฉนดเลขที่310 ตามเอกสารหมาย จ.19 โฉนดเลขที่ 311 ตามเอกสารหมาย จ.20โฉนดเลขที่ 312 ตามเอกสารหมาย จ.21 โฉนดเลขที่ 314 ตามเอกสารหมายจ.22 และโฉนดเลขที่ 298 ตามเอกสารหมาย จ.25 ซึ่งเป็นที่พิพาทระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยฯ
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า การแบ่งปันมรดกของนางสง่าศรีได้เสร็จสิ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โจทก์ทั้งห้ามาใช้สิทธิภายหลังจากนายสงบถึงแก่กรรมไปแล้วย่อมเกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่พิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนางสง่าศรียังแบ่งปันกันไม่เสร็จ แม้จำเลยจะครอบครองที่พิพาทกันเป็นทรัพย์มรดกของนางสง่าศรีแต่เพียงแต่ผู้เดียว ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปัน ถือว่าครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเอาไว้ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกของนางสง่าศรีซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีส่วนได้รับนั้นได้ จำเลยจะยกเอาอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน