แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์นำเอาต้นเงินกับดอกเบี้ยค้างชำระมารวมไว้ในสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่และคิดดอกเบี้ยในหนี้ต้นเงินใหม่ดังกล่าว การคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยที่นำมาทบต้นจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง เมื่อดอกเบี้ยตามฟ้องได้รวมเอาดอกเบี้ยที่ต้องห้ามตามกฎหมายไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่ต้องห้ามดังกล่าวออกมาให้ทราบได้ ฉ. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เฉพาะต้นเงินที่กู้ยืมเท่านั้น โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่เวลาที่ ฉ. ผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระต้นเงินจำนวน 1,098,658 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 762,193.98 บาท รวมจำนวน 1,860,851.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,098,658 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นางเฉลากู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า …ศาลได้ตรวจเปรียบเทียบลายมือชื่อนางเฉลาในเอกสารต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวน เช่น หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ที่จำเลยทั้งสองส่งประกอบคำถามค้านไว้ ปรากฏว่ารูปทรงของตัวอักษร ลักษณะและลีลาของการเขียนมีความละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมากกับที่นางเฉลาลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ทำขึ้นใหม่ รวมทั้งลายมือชื่อที่ปรากฏในรายการที่กู้เพิ่มครั้งหลังที่ปราฏในเอกสารหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวด้วย อีกทั้งจำเลยทั้งสองก็มิได้ปฏิเสธว่านางเฉลามิได้กู้ยืมเงินครั้งแรก คงยอมรับผิดโดยอ้างว่ากู้ยืมเงินเพียง 30,000 บาท เท่านั้น ตามเอกสารที่ทนายความของจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบ จึงน่าเชื่อว่า ลายมือชื่อของนางเฉลาที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับต่างๆเป็นลายมือชื่อของนางเฉลาจริง หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับต่าง ๆ จึงไม่ใช่เอกสารปลอมดังคำอ้างของจำเลยทั้งสอง ประกอบกับนางเฉลาได้นำโฉนดที่ดินของตนเองมาวางไว้เป็นประกันด้วย จึงน่าเชื่อว่านางเฉลาได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไปจริง มิฉะนั้นจะนำเอาโฉนดที่ดินมาวางไว้เป็นประกันด้วยเหตุผลใด แต่นางเฉลาจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น เห็นว่า โจทก์เบิกความยอมรับว่าได้นำเอาต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับเดิมกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระมารวมไว้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ด้วย แต่มิได้คำนวณแยกส่วนสัดมาให้ชัดว่าจำนวนใดเป็นต้นเงินจำนวนใดเป็นดอกเบี้ย คงระบุว่าสำหรับต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมีจำนวนเพียง 30,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 2 มีจำนวนเพียง 360,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 3 มีจำนวนเพียง 170,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับที่ 4 มีจำนวนเพียง 120,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมฉบับที่ 5 มีจำนวนเพียง 100,000 บาท หนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ มีจำนวนเพียง 220,000 บาท รวมเป็นต้นเงินที่นางเฉลาต้องรับผิดทั้งสิ้น 1,000,000 บาท เมื่อรวมกับต้นเงินที่กู้เพิ่มเติมซึ่งปรากฏตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอีกจำนวน 30,000 บาท จำนวน 10,000 บาท และจำนวน 40,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบต่อสู้ไว้ รวมหนี้ที่นางเฉลาเป็นลูกหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินจำนวน 1,080,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อโจทก์เบิกความยอมรับว่าได้นำเอาต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระรวมไว้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ด้วย และคิดดอกเบี้ยในหนี้เงินฉบับใหม่ ดอกเบี้ยในส่วนที่นำมาทบต้นนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง เมื่อดอกเบี้ยทั้งหมดได้รวมเอาดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่สามารถแยกดอกเบี้ยที่ต้องห้ามดังกล่าวออกมาให้ทราบได้ นางเฉลาจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เฉพาะต้นเงินที่กู้ยืมเท่านั้น โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญานับแต่เวลาที่นางเฉลาผิดนัด ซึ่งโจทก์เบิกความว่านางเฉลาเป็นหนี้ต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,000,000 บาท กำหนดชำระเงินคืน วันที่ 2 เมษายน 2536 เมื่อครบกำหนดแล้ว นางเฉลาไม่ชำระต้นเงินตามสัญญา แต่ปรากฏว่าโจทก์ยังคงให้นางเฉลากู้ยืมเงินเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง เห็นได้ว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 โดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้นางเฉลาชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่อมานางเฉลาถึงแก่ความตายและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทของนางเฉลาชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ในวันที่ 2 สิงหาคม 2544 ส่วนจำเลยที่ 2 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ในวันที่ 4 สิงหาคม 2544 จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน 1,080,000 บาท นับแต่วันดังกล่าว โดยให้คิดตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของนางเฉลาผิดนัดจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2544) รวมเป็นดอกเบี้ย 5,770 บาท จำเลยทั้งสองไม่ปฏิเสธความเป็นทายาทของนางเฉลาจึงรับผิดเท่าที่ไม่เกินทรัพย์มรดกของนางเฉลาที่ตนเองได้รับ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มาทั้งหมดนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,085,770 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,080,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าจำนวนทรัพย์มรดกของนางเฉลาผู้กู้ที่จะตกได้แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ