คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3455/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร กับจำเลยที่ 2 และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น เมื่อเจ้ามรดกตายที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1และที่ 2 เท่านั้นจำเลยที่ 3 ได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2มีอยู่การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้และจะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายพริ้ม แปลกฤทธิ์เจ้ามรดก เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 271ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอเปลี่ยนหลักฐานเกี่ยวกับที่พิพาทจาก ส.ค.1 เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 418 แล้วจำเลยทั้งสามสมคบกันไปจดทะเบียนโอนขายที่พิพาททั้งนี้โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ที่พิพาทมาโดยการให้จากบิดา การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก จึงต้องถูกจำกัดมิให้ได้รับที่พิพาทเลย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 3 ออกจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 418 เล่ม 5 ก หน้า 18 เลขที่ดิน83 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทถ้าไม่สามารถพิพากษาตามที่ขอดังกล่าวได้ให้จำเลยที่ 3 แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง ถ้าในการแบ่งตกลงกันไม่ได้ให้นำที่พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1ได้รับที่พิพาทมาโดยการยกให้จากนายพริ้ม บิดาก่อนนายพริ้มถึงแก่ความตาย ไม่ได้รับมาโดยอาศัยสิทธิตามพินัยกรรม จำเลยที่ 1ครอบครองทำประโยชน์ที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผยเพื่อเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ขณะนายพริ้มจะถึงแก่ความตายได้ขอร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยการจดทะเบียนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต อายุความคดีนี้มีกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และโจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นคดีนี้เกิน 1 ปี นับแต่บรรลุนิติภาวะและพ้นกำหนดอายุความฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ถ้าหากฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิทางพินัยกรรม นับตั้งแต่จำเลยที่ 3ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 1 ปีแล้วถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาทจากโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง 1 ปี นับแต่วันถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสามจัดการตกลงแบ่งที่พิพาท โดยให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 3ครึ่งหนึ่ง โดยให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยที่ 3 หากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่พิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่งคำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านายพริ้มเจ้ามรดกมีบุตร 5 คน คือ นางวิลัย มารดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 นางสมใจ จำเลยที่ 1 นางเอมอร และนางยุพิน กับมีบุตรบุญธรรมอีก 1 คน คือนายทิวา นายพริ้มทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2512ยกที่พิพาทให้แก่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสอง นายพริ้มถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2515 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ที่ 1อายุ 6 ปีเศษ และโจทก์ที่ 2 อายุ 5 ปีเศษ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขอออกน.ส.3 ก. ในที่พิพาทโดยใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 และในปี 2522จำเลยทั้งสองได้ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไปจดทะเบียนซื้อขายในปี 2528 เมื่อจำเลยที่ 2 บรรลุนิติภาวะ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อได้รับที่พิพาทมาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ครอบครองมาโดยตลอด ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองเห็นว่าเมื่อเจ้ามรดกตายมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาท และกองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคแรก และมาตรา 1603วรรคแรก ดังนั้นเมื่อตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 นายพริ้มเจ้ามรดกได้ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสอง ที่พิพาทจึงตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ส่วนการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกนั้นแล้วแต่พฤติการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป จำเลยที่ 1อ้างว่าเข้าครอบครองที่พิพาทโดยไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองซึ่งขณะนั้นโจทก์ทั้งสองยังไม่บรรลุนิติภาวะมารดาถึงแก่ความตายไปก่อนนายพริ้มเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสองไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทโดยโจทก์ที่ 1 ไปอยู่กับนางยุพินตั้งแต่มารดาตาย ส่วนโจทก์ที่ 2ไปอยู่กับนางชอุ่มตั้งแต่อายุ 10 ปีการที่ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ในที่พิพาทเพื่อขอออก น.ส.3 ก. ร่วมด้วยเป็นเพราะสงสารจำเลยที่ 2ได้ความว่า เมื่อนายพริ้มตายได้มีการจัดงานศพ นางยุพินเบิกความว่าหลังจากเผาศพนายพริ้ม 1 วัน พระวิเชียรฐานสีโลได้นำพินัยกรรม เอกสารหมาย จ.1 มาให้ที่บ้านซึ่งนายพริ้มพักอาศัยอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตายโดยมีนางสมใจจำเลยที่ 1 และนางเอมอรกับพยานร่วมรู้เห็นอยู่ด้วย พระวิเชียรฐานสีโล นำพินัยกรรมมามอบให้ 4 ฉบับ จำเลยที่ 1 รับไป 1 ฉบับ หลังจากนายพริ้มตายประมาณ3 เดือน พยานกับนางสมใจและนางเอมอรได้ไปติดต่อรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าในงานทำบุญตักบาตรงานศพนายพริ้มพยานอยู่ด้วยพร้อมกับพี่น้องทุกคน จึงเป็นการเจือสมฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงข้อกำหนดในพินัยกรรม และต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ขอออก น.ส.3 ก. สำหรับที่พิพาท จำเลยที่ 1 ได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับมรดกคนหนึ่งและเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสองร่วมด้วย อันเป็นการเข้ารับมรดกนั่นเอง จึงเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่พิพาทในฐานะทายาทตามพินัยกรรมและพฤติการณ์เช่นนี้เชื่อว่าเป็นการเข้าครอบครองแทนโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย และการครอบครองของจำเลยที่ 1 ต่อมา จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ จึงยังคงเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกัน การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่พิพาทมาโดยการซื้อจากจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น การขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 เป็นการขายเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น จึงได้สิทธิไปเท่าที่จำเลยที่ 1และที่ 2 มีอยู่ การครอบครองที่พิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจะถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองไม่ได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ส่วนของตนคืนได้ คดีของโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน

Share